(28 ม.ค. 2553) สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต หรือ SIU ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประเทศไทย จัดงานเสวนา “ก้าวข้ามความขัดแย้งสังคมไทย” โดย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต นำเสนอเรื่อง “Scenarios เครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทย”
ต่อด้วย “การเสวนาโต๊ะกลม: ทางออกประเทศไทยในความขัดแย้ง” โดยมีจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมการเสวนา ขณะที่สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ไม่สามารถเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ได้เนื่องจากติดภารกิจด่วนต้องไปให้ข้อมูลกับ กกต.
Scenario: ว่าด้วยการประเมิน พยากรณ์ และกำหนดอนาคตร่วมกัน
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ เริ่มต้นโดยกล่าวอธิบายถึง กระบวนการฉายภาพฉากทัศน์อนาคต (Scenario) ว่าเป็นเครื่องมือพยากรณ์อนาคตในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เตรียมรับมือกับอนาคตได้ถูก โดยอาศัยการให้คนจำนวนหนึ่งร่วมเสนอความคิดแลกเปลี่ยน (Brainstorm) กันเพื่อประเมินอนาคตออกมาในหลายรูปแบบ และลดเหลือเพียงอนาคตซึ่งเป็น Scenarios ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดไม่กี่รูปแบบ
ในเอกสารและการบรรยายของอิสริยะ ได้ยกตัวอย่างการใช้วิธี Scenario กับประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเคยมีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่มีนโยบายแบ่งแยกสีผิว ที่ทำให้ชาวผิวดำซึ่งมีอยู่ 79% กลายเป็นทาสถูกกดขี่ และไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้ปกครอง และขณะที่ชาวผิวขาว 10% เป็นชนชั้นปกครอง จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสีผิวภายในประเทศ และเกิดการจลาจลบ่อยครั้ง
อิสริยะ บรรยายต่อถึงรัฐบาลสมัยประธานาธิบดี เดอ เคลิร์ก (De Clerk) ซึ่งเป็นรัฐบาลผิวขาวหัวก้าวหน้าที่ยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิว ปล่อยตัวผู้นำการเมืองฝ่ายผิวดำ เนลสัน แมนเดลลา และอนุญาตให้คนผิวดำสามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ จนทำให้วิกฤติคลี่คลาย และพัฒนาประเทศต่อไปได้
ผู้บรรยายกล่าวถึงวิธีการ Scenario ในแอฟริกาใต้ ที่มีการนำผู้เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวารัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงผู้นำชนเผ่าต่างๆ มากร่วมประชุมเพื่อมองหาอนาคตร่วมกัน ในโครงการที่ชื่อ โครงการมองต์เฟลอร์ (Mont Fleur Scenario) ซึ่งไม่เน้นให้เกิดการแตกหักในการสนทนา แต่เป็นการกระตุ้นให้ถกถียงกันว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้าเราอยากเห็นอนาคตแบบไหน
จากโครงการณ์มองต์เฟลอร์ ทำให้เกิดการสรุปอนาคตออกมา 4 รูปแบบคือ นกกระจอกเทศมุดหัวลงในพื้นทราย (Ostrich) ซึ่งเป็นอนาคตที่ทุกฝ่ายไม่ต้องการเจรจา รัฐบาลผิวขาวไม่สนใจคนผิวดำ และยังคงเป็นรัฐบาลที่ปกครองต่อไป ต่างฝ่ายต่างไม่สนใจปัญหาเหมือนนกกระจอกเทศที่มุดหัวลงในดินไม่สนใจสิ่งแวดล้อมข้างนอก
แบบต่อมาคือ เป็ดง่อย (Lame Duck) คือมีรัฐบาลผสมของคนผิวขาวและผิวดำ แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ต่างฝ่ายต่างยังไม่ไว้ใจกัน ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
อีกแบบหนึ่งคือ อิคารัส (Icarus) ที่ประเมินว่ารัฐบาลผิวดำจะได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องอาศัยนโยบายประชานิยมเพื่อได้รับการสนับสนุน จนทำให้ขาดดุลงบประมาณ และเกิดปัญหาในระยะยาว เช่น อิคารัสในปกรณัมกรีกที่สร้างปีกจากขี้ผึ้งแล้วบินได้ แต่เป็นปีกที่ไม่ยั่งยืน พอเข้าใกล้แสงอาทิตย์ก็ละลายและร่วงหล่นลงมา
และอนาคตแบบสุดท้ายคือ นกฟลามิงโกโบยบิน (Flight of the Flamingos) เป็นอนาคตที่ทั้งคนผิวขาวและผิวดำสามารถตกลงกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีธรรมาภิบาล
จากนั้นจึงมีการนำอนาคตทั้งสี่แบบนำเสนอออกสู่สาธารณะ จนทำให้ เดอ เคลิร์ก ต้องกล่าวออกสื่อว่า “พวกเราไม่ใช่พวกนกกระจอกเทศ” ทำให้ต่อมามีการยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิวและประชาชนผิวดำสามารถให้สิทธิ์เลือกตั้ง ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายได้ในที่สุด
อิสริยะ กล่าวต่ออีกว่า จากความสำเร็จของโครงการมองต์เฟลอร์ ทำให้มีการนำวิธีการเดียวกันนี้มาใช้กับประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองต่ำ หรือมีความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เช่น สเปน, ไอร์แลนด์เหนือ, กัวเตมาลา ฯลฯ
จากนั้นจึงเสนอว่ากรณีของประเทศไทยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อแดง กับเสื้อเหลือง เราจะสามารถนำวิธีการ Scenario มาใช้ได้หรือไม่ หรือมีวิธีการอื่นๆ ที่สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้
จาตุรนต์: รัฐประหารไม่เกิดในเร็ววัน แต่จะมีการทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยกระบวนการทางกฏหมาย
จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่าความขัดแย้งในสังคมไทยจะมีต่อไปและไม่มีแนวโน้มจะลดลงง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ลงมติไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญอีกต่อไป ทำให้ต้องรอไปจนถึงรัฐบาลสมัยถัดไปหากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จาตุรนต์ บอกอีกว่าต่อให้มีการเลือกตั้งทำให้ได้รัฐบาลชุดใหม่มา ก็ยังจะมีคนอีกกลุ่มที่ไม่พอใจ และทำให้เกิดการต่อต้านอีก เขาจึงมองว่าความขัดแย้งในสังคมไทยมาจากกลุ่มที่ไม่ได้รัฐบาลที่ตนเองปรารถนาจากนั้นจึงออกมาต่อต้านแล้วนำไปสู่การรัฐประหาร
ในกรณีดังกล่าว จาตุรนต์ มองว่า สังคมไทยไม่มีวิธีการจัดการเรื่องความขัดแย้งในแบบประเทศที่เจริญแล้ว แต่ถอยหลังกลับใช้วิธีการแบบรัฐประหาร แล้วอ้างให้ทุกคนยอมรับกติกาปัจจุบัน ซึ่งเป็นกติกาของรัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นมาอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยถูกล้มล้างไปแล้วโดยรัฐประหาร จากนั้นจึงอาศัยรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นไปล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เกี่ยวกับเรื่องข่าวลือรัฐประหารที่เกิดขึ้นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จาตุรนต์ประเมินว่า อาจจะยังไม่เกิดรัฐประหารใน 2-3 วันนี้ แม้จะได้ยินข่าวจากวงในว่ามีผู้นำกองทัพบางคนจ้องทำรัฐประหาร เพราะในระยะนี้เขาจะอาศัยกลไกทางกฏหมายจัดการไปก่อน ซึ่งตรงนี้อาจทำให้คนเริ่มเชื่อถือกระบวนการทางกฏหมายน้อยลง
จาตุรนต์มองว่า จุดหักเหที่สำคัญคือวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งเป็นวันตัดสินคดียึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ ดูจากพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ ออกมาบอกว่าพอตัดสินคดียึดทรัพย์แล้วจะมีความรุนแรงมากขึ้น ฝ่ายความมั่นคงก็บอกว่าจะเกิดความรุนแรงและเตรียมรับมือ ทาง คตส. ก็ออกมาเปิดเผยข้อมูลทางสื่อโดยที่ศาลยังไม่ติดสิน
จากการประเมิน จาตุรนต์เชื่อว่า ผลการตัดสินจะออกมาว่า ให้ยึดทรัพย์สินทุกบาททุกสตางค์ จนทำให้ประชาชนเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้น้อยลง จากนั้นก็จะทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น และรัฐก็จะหาสาเหตุเพื่อขยายผลปราบปรามรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย
ในเรื่องของ Scenario จาตุรนต์กล่าวเปรียบเทียบอนาคตของประเทศไทยว่าอยู่ในระดับนกกระจอกเทศมุดหัวลงในพื้นทราย (Ostrich) ที่ไม่สามารถลงรอยกันได้ในเรื่องความขัดแย้ง
อัด ‘องค์กรไม่อิสระ’ เล่นพวก ตัวแปรรัฐประหาร
ในเรื่องของการหาจุดร่วม จาตุรนต์ มองว่าคู่ขัดแย้งในไทยหาจุดร่วมได้ยาก แม้จะมีจุดร่วมเรื่องการตรวจสอบ แต่ในเรื่องวิธีการต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าองค์กรอิสระที่มีอยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระจริง เพราะถูกตั้งโดยคณะรัฐประหาร
จาตุรนต์เรียกแทนองค์กรอิสระว่า ‘องค์กรไม่อิสระ’ โดยกล่าวว่า ‘องค์กรไม่อิสระ’ ซึ่งเอียงข้างไปทางฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทำให้ได้รัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก แต่ทาง ‘องค์กรไม่อิสระ’ ก็จะหาเรื่องล้มรัฐบาลโดยอาศัยการอ้างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร และใช้ในการปิดกั้นเสรีภาพ
ขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลฝ่ายเดียวกับ ‘องค์กรไม่อิสระ’ ได้ขึ้นมามีอำนาจ ก็จะเกิดการคอร์รัปชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วทหารก็จะหาเรื่องรัฐประหาร
จาตุรนต์เสนอว่า เราจึงควรสร้างค่านิยมให้มีการเกลียดชังรัฐประหาร เพื่อให้มาปัญหาความขัดแย้งกันในระบบ และต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่มามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด
“เรามีกลไกอื่นอีกมากมายในการแก้ไขในระบบ แต่เราปล่อยให้ผู้มีอำนาจสร้างความชอบธรรมกับกลไกที่มันผิด” จาตุรนต์กล่าว
ประวิตร เปรยฝ่ายขัดแย้งเข้าร่วมไม่ครบ วิธีการมองเฟลอร์ก็ไม่ได้ผล
ประวิตร โรจน์พฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากเดอะเนชั่น บอกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย. มีส่วนสำคัญในการปลุกประชาชนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทักษิณให้ลุกขึ้นมา
ประวิตร กล่าวถึงข่าวลือเรื่องรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมาว่า ตัวเขาเองไม่ใช่เสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่รู้จักรุ่นน้องเสื้อแดงคนหนึ่ง ซึ่งโทรมาหาท่าทางวิตกจริตในเรื่องรัฐประหาร และเล่าว่าวิทยุของกลุ่มคนเสื้อแดงก็คอยมอนิเตอร์เรื่องนี้อยู่โดยตลอด
ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่นให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารเป็นเรื่องไร้วุฒิภาวะ ทำให้สังคมไทยย่ำอยู่กับที่ ในช่วงรัฐประหาร 19 ก.ย. มีบางคนที่คิดว่าการรัฐประหารจะทำให้ความขัดแย้งจบลง
“แต่ถ้ามันเป็นเรื่องจริง เราก็คงไม่ต้องมานั่งเสวนากันในวันนี้” ประวิตรกล่าวและเสนอว่าปัญหาอย่างหนึ่งคือการมองความขัดแย้งว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้หันมาจัดการปัญหาด้วยวิธีการรัฐประหารหรือการใช้กำลัง หรือมีการอาศัยอำนาจจากนอกระบบมาใช้ เช่น การเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมุมมองปฏิเสธความขัดแย้งและการจัดการปัญหาเช่นนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตย
ขณะที่จาตุรนต์มองอนาคตเมืองไทยเปรียบเหมือนนกกระจอกเทศมุดหัวลงในพื้นทราย (Ostrich) ประวิตร เปรียบอนาคตประเทศไทยว่าเป็น อิคารัส (Icarus)เนื่องจากประเทศไทยมักพึ่งพาสถาบัน พึ่งพาทหารมาก ซึ่งไม่ได้ยั่งยืน
โดยประวิตร พูดเปรยถึงการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า วิธีการ Scenario แบบมองต์เฟลอร์ ต้องมีฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาเข้าร่วม แต่ในวันนี้คุณสุริยะใสไม่มาเข้าร่วมวิธีการมองต์เฟลอร์ก็ไร้ประโยชน์
ในเรื่องการใช้ความรุนแรง ประวิตรมองว่าการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จากการรัฐประหาร 19 ก.ย. ก็ถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง และเสนอว่าควรจะจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
เอกพันธ์: เราไม่เคยใช้กลไกอื่นจัดการความขัดแย้ง คุ้นแต่การฟ้องผู้ใหญ่
ทางด้านเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ และควรปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไปตราบใดที่มันยังไม่นำไปสู่ความรุนแรง แต่คนไทยมักกลัวคำว่าความขัดแย้ง โดยคนไทยเองก็ไม่เคยมีความขัดแย้งที่ยาวนานขนาดนี้ และไม่เคยใช้กลไกจัดการกับความขัดแย้งอื่นใดเลยนอกจากการรัฐประหาร เราไม่เคยมีพัฒนาการเลย
เอกพันธ์ กล่าวอีกว่า คนไทยคุ้นชินกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ยกตัวอย่างเรื่องเล็กในชีวิตประจำวันเช่น เวลาที่ทะเลาะกันก็มักหาทางออกโดยการไปฟ้องผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการอาศัยอำนาจให้มาจัดการปัญหา
ในเรื่องการมีจุดร่วมกัน เอกพันธ์ มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นประเด็นที่สร้างการมีส่วนร่วมในความขัดแย้งของหลายๆ ฝ่ายได้ แต่ในตอนนี้ไม่สามารถนำมาเป็นประเด็นได้อีกแล้ว
เอกพันธ์ บอกว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นเรื่องปกติ เราอาจยังไม่ต้องถึงขั้นก้าวข้ามมัน แต่ต้องเรียนรู้จะอยู่กับมัน โดยการก้าวข้าม ควรเป็นการก้าวข้ามตัวตนของแต่ละฝ่ายแทน
เลิกลดทอนความเป็นมนุษย์ฝ่ายตรงข้าม เลิก ‘ชาบูๆ’ ไอดอล นี่ไม่ใช่เรียลลิตี้โชว์
ประวิตร เสนอว่า เราควรยุติการทำให้ฝ่ายตรงข้ามดูไม่เป็นมนุษย์ หรือคือการดูถูก ลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) เช่น ที่สื่ออย่างผู้จัดการที่พาดหัวว่ารัฐบาลส้นตีนแดง มีการเรียกว่าควายแดง หรือที่พบในเว็บบอร์ดประชาไทที่มีคนใช้คำว่าสาวกเจ๊กลิ้ม เราไม่ควรมองว่าฝ่ายตรงข้ามโง่ ไร้ความเป็นมนุษย์ อยู่ภายใต้โฆษณาชวนเชื่ออยู่ตลอดเวลา ควรมองว่าเขาอาจมีความบริสุทธิ์ของตัวเองอยู่ก็ได้
ประวิตร กล่าวถึงเรื่องสื่ออีกว่า สื่อเสื้อแดงส่วนใหญ่มักไม่เชื่อใจสื่อหลัก ซึ่งรวมถึงเดอะเนชั่นด้วย เพราะคิดว่าไม่เป็นกลาง จึงคิดว่าการหาจุดร่วมทำได้ยาก เนื่องจากมีความไม่ไว้ใจกันอยู่
ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่นให้ความเห็นอีกว่า ตัวผู้นำของแต่ละฝ่ายเองไม่ควรทำตัวเป็นไอดอล ยกตัวอย่างเช่นการที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล แต่งชุดขาวพรมน้ำมนต์ หรือการที่คุณณัฐวุธ ไสยเกื้อ ออกหนังสือ “ชกข้ามรุ่น” โดยแต่งตัวเป็นนักมวย ผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายต่างๆ ก็ไม่ควรเชียร์ผู้นำตัวเองในระดับความเป็นไอดอล
“ไม่เช่นนั้น มันจะกลายเป็นเรียลลิตี้โชว์ทางการเมืองไป” ประวิตร กล่าว