บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

เอกภาพทหาร ต้านศึก"ทักษิณ" แดงโหมตอกลิ่ม "ปฏิวัติ" กุมภาพันธ์อันตราย

ที่มา ไทยรัฐ
Pic_62000

"หักดิบ" กันแบบเห็นๆ

เมื่อที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีมติด้วยคะแนน 82 ต่อ 48 เสียง ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สวนทางพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ประกอบด้วยพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม ที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น คือ

มาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้ง ที่ต้องการเปลี่ยนจากแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ ไปเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว และมาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นชัดว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดการใหญ่รัฐบาล

ไม่ใช่ผู้คุมเสียงเด็ดขาดในพรรค

ทั้งที่ตกปากรับคำกับพรรคร่วมฯในเรื่องการแก้ไขรัฐ-ธรรมนูญประเด็นเรื่องเขตเลือกตั้ง ที่เป็นเงื่อนไขข้อตกลงสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล

สัญญาลูกผู้ชายโดนฉีกทิ้ง โดยมติที่ประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์

แม้งานนี้ นายสุเทพพยายามหว่านล้อมลูกพรรคก่อนลงมติขอให้คำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลและให้ความเป็นธรรมกับพรรคร่วมฯ รวมทั้งขอให้เห็นใจในฐานะที่เป็นคนไปเจรจาดึงพรรคร่วมฯให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ

แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็แสดงความเห็นบลัฟกลับ ขอให้ ส.ส.ของพรรค รักษาจุดยืนของพรรคที่ผลักดันการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียง เบอร์มาตั้งแต่ต้น คำนึงถึงหลักการ และเป็นหลักให้บ้านเมือง

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้อาวุโสของพรรค อย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกแรงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทำให้พลังของผู้จัดการใหญ่รัฐบาลแผ่วลง

จน ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ มีมติหักดิบ พรรคร่วมรัฐบาล

แน่นอน ในภาวการณ์เช่นนี้ พรรคร่วมรัฐบาลย่อมไม่พอใจอย่างแรงที่โดนพรรคแกนนำหักดิบขวางลำแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สะท้อนชัดจากการที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มือขวาของนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

ตำหนิติเตียนนายกอภิสิทธิ์ "อย่าเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า"

รวมทั้งวาทะร้อนๆจากนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน โวยใส่พรรคประชาธิปัตย์

พูดจาเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น

ดูหมิ่นดูแคลน 5 พรรคร่วมฯที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนโจรผู้ร้าย ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

ปฏิกิริยาอาการเหล่านี้ ทำให้บรรยากาศการเมืองในซีกรัฐบาลร้อนแรง บรรดาคอการเมืองพูดถึงกระแสยุบสภากันกระหึ่ม

แต่จากการที่ "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" เกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายในรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เราขอชี้ว่า

สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก

5 พรรคร่วมรัฐบาลยังต้องทนกล้ำกลืนอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป เพราะยังมีผลประโยชน์ของแต่ละพรรคในการร่วมรัฐบาลเป็นแรงดึงดูด

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความขัดแย้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในซีกรัฐบาล ก็ยังเป็นมุมสะท้อนว่า

พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ไม่ได้จับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบ้านเมืองเป็นหลัก

เพราะถ้า 5 พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่าง แท้จริง ก็คงไม่เอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น มาเร่งผลักดัน ให้เป็นปัญหาซ้อนขึ้นมาในห้วงที่รัฐบาลต้องเผชิญกับศึกใหญ่ทั้งในสภา และนอกสภา ต้องรับมือกับวิกฤติ "ทักษิณ"

จึงชัดเจนว่า การร่วมกันเป็นรัฐบาล แท้จริงแล้วก็เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละพรรค และความสมประโยชน์ทางการเมือง เป้าหมายหนีไม่พ้นสะสมทุนและบวกกำไร

เหนืออื่นใด เมื่อพรรคแกนนำไม่เอาด้วยกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังยืนยันอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป

ก็อาจมองไปได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลยกปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นฉากหน้า เพื่อต่อรองผลประโยชน์ฉากหลัง

ประเภทที่ว่า พรรคแกนนำรัฐบาลอย่ามาเป็นก้างขวางคอพรรคร่วมฯ อย่าขัดอย่าขวางการใช้งบประมาณโครงการต่างๆในกระทรวงที่พรรคร่วมฯดูแล

ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาล ก็แสดงอาการแข็งขืนให้เห็น ไม่ยอมพรรคร่วมฯในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีดาบยุบสภาอยู่ในมือ

เหมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนกันแรงๆ อย่ากดดันกันมาก อย่าเอาแต่ได้มากไป

เข้าตำรา ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

แต่สุดท้ายทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคแกนนำรัฐบาลก็ยังอยู่ร่วมกันต่อไป แม้กล้ำกลืนก็ต้องทน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ในห้วงที่ซีกรัฐบาลเปิดศึกขัดแย้งกันเองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายตรงข้ามที่กำลังโหมโรงเปิดศึกถล่มรัฐบาลทั้งในสภาและนอกสภา

ก็เปิดเกมประโคมข่าวกระแสปฏิวัติรัฐประหาร กันแบบครึกโครม

ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ตีปี๊บเป็นระลอก บอกขุนทหารมีการเคลื่อนไหวประชุมวางแผนปฏิวัติที่ค่ายทหารในจังหวัดปราจีนบุรี

ขณะที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ไม่น้อยหน้า ออกมาโหมประโคมข่าว

นายทหารระดับบิ๊กของกองทัพบก นัดประชุมหารือวางแผนปฏิวัติร่วมกับนายทหารระดับบิ๊กของกองทัพอากาศในพื้นที่กองทัพอากาศ ดอนเมือง

จุดประเด็นเคลื่อนไหวนัดกลุ่มคนเสื้อแดงเดินสายชุมนุมเปิดเกมกดดันกองทัพ ยกขบวนไปชุมนุมปราศรัยหน้ากองบัญชาการกองทัพบก

จี้จุดไปที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. ในเชิงสอบถามว่าจะมีการเคลื่อนไหวก่อการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่

รวมถึงจะไปชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง สอบถาม พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ว่ามีการวางแผนทำปฏิวัติหรือเปล่า

ซึ่งที่จริง ผบ.ทุกเหล่าทัพ ก็ออกมาประกาศอยู่ทุกวัน ทหารไม่มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ปฏิเสธไม่มีการวางแผนรัฐประหาร

แต่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงก็ต้องเคลื่อนไหวกดดันไปตามเกม

เป้าหมายหลักก็คือ ต้องการสกัดไม่ให้มีการปฏิวัติ

สอดรับกับความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประกาศผ่านวีดิโอลิงก์ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เขาสอยดาว

ประกาศสู้ไม่ถอย ถ้ามีการปฏิวัติ จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เมืองนอก และให้พี่น้องเสื้อแดงสู้ที่เมืองไทย

โหมกระแสปฏิวัติกันเต็มลูกสูบ

ยิ่งเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนอันตราย ก็ยิ่งต้องเปิดเกมรุกหนักขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะในห้วงก่อนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 76,000 บาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

เพราะอย่างที่เห็นๆ แนวทางการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ที่เตรียมเดินเกมถล่มรัฐบาลในสภา

ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและ ครม.

และการเคลื่อนไหวนอกสภาของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีการเดินสายชุมนุมในสถานที่ต่างๆ ไล่ตั้งแต่เขายายเที่ยง เขาสอยดาว

เพื่อกดดันไปที่ฝ่ายอำมาตย์ ขยายผลเรื่องสองมาตรฐาน รวมถึงการเปิดเกมประโคมกระแสข่าวปฏิวัติ ชุมนุมกดดันผู้นำเหล่าทัพ

ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวที่ประสานสอดรับแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการเดินไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ หลัก นั่นก็คือ

ช่วย "ทักษิณ" กลับเมืองไทยโดยไม่ต้องติดคุก และทวงคืนขุมทรัพย์ 76,000 ล้านบาท

เมื่อการตัดสินคดียึดทรัพย์ใกล้เข้ามา ก็เท่ากับสถานการณ์เข้าสู่โซนอันตราย

เพราะ "นายใหญ่" ต้องพยายามเร่งเกม ให้เดินไปสู่จุดแตกหัก ก่อนเข้าสู่ห้วงการตัดสินคดียึดทรัพย์

เหมือนอย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ว่า

ขบวนการของลูกน้อง พ.ต.ท.ทักษิณ มีแผนการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เพื่อให้ทหารทนไม่ได้ จะได้เอาไปขยายผลเรียกร้องประชาชนให้ลุกฮือ

เพื่อให้เข้าแผนที่เขาเรียกว่าปฏิวัติประชาชน

ในขณะที่สถานการณ์กำลังเดินเข้าสู่โซนอันตราย หันมาทางรัฐบาลก็อย่างที่เห็น ยังจมอยู่ในความขัดแย้งจากปัญหาการหักดิบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขาดความเป็นเอกภาพ

ฉะนั้น ลำพังฝ่ายการเมืองคงรับมือไม่ไหว

หากสถานการณ์วุ่นวาย ลุกลามบานปลายเหมือนเหตุการณ์เดือนเมษายน 2552 คงหนีไม่พ้นฝ่ายความมั่นคง

กองทัพจะต้องเข้ามาร่วมคลี่คลายสถานการณ์

งานนี้ถ้ากองทัพมีเอกภาพ การรับมือกับสถานการณ์ ต่างๆที่เป็นภัยกับความมั่นคงของประเทศ คงไม่ใช่เรื่องยาก

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ากองทัพไม่มีเอกภาพ เดือนกุมภาพันธ์จะเป็นเดือนที่น่ากลัวที่สุด

เพราะโรคแทรกซ้อนจะเต็มไปหมด.

"ทีมการเมือง"

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker