(กรุงเทพฯ/ 29 ม.ค.53) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์พร้อมเครือข่ายภาคประชาสังคม 13 กลุ่มทำหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ เตือนสติเจรจากับผู้แทนสหรัฐฯอย่างมีศักดิ์ศรี เปิดเผย โปร่งใส ต้องไม่ทำการค้าบนชีวิตคนไทย
ตามที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อพบปะหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR เกี่ยวกับประเด็นการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-5 กุมภาพันธ์นี้
นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมด้วยภาคประชาสังคมอีก 13 กลุ่มได้ร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ขอให้เปิดเผยการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐต่อสาธารณะ
“พวกเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่า การหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในการที่จะขอร้องต่อสหรัฐฯให้ถอดประเทศไทยจากการเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) และการเชิญชวนให้สหรัฐฯเริ่มเจรจาการค้าทวิภาคี จะนำไปสู่การตกลงทำแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) อย่างลับๆ จนได้รับการชื่นชมจากผู้แทนการค้าสหรัฐตามที่ปรากฏในรายงาน 301 พิเศษประจำปี 2552 แต่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการเข้าถึงความรู้ของคนไทย และยังอาจจะเป็นการนำงบประมาณแผ่นดินของประเทศที่ควรใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมไทยไปปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินเอกชนจนเกินกว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันกำหนด” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว
เนื้อความในจดหมาย ระบุว่า “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา ต้องตระหนัก แม้การหารือเพื่อขอให้สหรัฐปลดไทยออกจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษจะเป็นเรื่องสำคัญและควรกระทำ แต่ต้องเป็นการเจรจาที่สมศักดิ์ศรีอย่างประเทศที่มีอธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ จะต้องไม่เป็นการเอาวิถีชีวิตและการผลิตของเกษตรกรรายย่อย ผู้ค้ารายเล็กรายน้อย รวมทั้งผู้ป่วยไปแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะมีผลได้กับนักธุรกิจที่สัมพันธ์กับการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น” และเรียกร้องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศและการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของประชาชนไทย ด้วยการเปิดเผยร่างแผนปฏิบัติการและเนื้อหาการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯทั้งหมดอย่างโปร่งใสทันที และระลึกในใจเสมอว่า การเจรจาใดๆจะต้องไม่ทำการค้าบนชีวิตคนไทย
สำหรับภาคประชาสังคมที่ร่วมลงนามประกอบไปด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเภสัชชนบท มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิสุขภาพไทย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)