"กฎหมาย ป.ป.ช.ระบุไว้ว่ากระบวนการอุทธรณ์ทำได้เฉพาะเรื่องการลงโทษของผู้บังคับบัญชา แต่ไม่สามารถที่จะไปอุทธรณ์มติที่ ป.ป.ช. ผมทราบดีว่าทาง ก.ตร.หรือผู้เกี่ยวข้อง อาจจะมีความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ ป.ป.ช.ชี้ แต่ข้อเท็จจริงคือว่าระบบที่จะไปคานอำนาจกับ ป.ป.ช.นั้น บุคคลเหล่านี้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งในอดีตนั้นก็มีหลายครั้งที่ศาลปกครองนั้นกลับมติของ ป.ป.ช. "
จากคำกล่าวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ข้างต้นที่กล่าวย้ำในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์"เมื่อ 17 มกราคมที่ผ่านมาทำให้ผมเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์และอีกหลายๆคนน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนในอำนาจศาลปกครองที่มีต่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังมีความเห็นเช่นเดียวกันว่าถ้าผู้ถูกลงโทษนั้นเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลปกครองได้ (บันทึกเรื่องเสร็จ ที่ 642-644/2552 ลว. 9 ต.ค.52)
จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองและ ป.ป.ช.ไว้ ดังนี้
มาตรา 223 วรรคสอง “อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น”
มาตรา 250 “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
...(3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับที่ต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นสมควรดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต....”
เมื่อเราพิจารณาจากบทบัญญัติข้างต้นดังกล่าวแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการใดที่ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไต่สวนและวินิจฉัยโดยใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญแล้วศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งก็ได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีของการวินิจฉัยให้ใบแดงใบเหลืองของ ก.ก.ต.ว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ศาลปกครองชั้นต้นได้เปลี่ยนแนวมารับพิจารณาคดีที่มีผู้มายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาออกคำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรงตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.โดยได้ตัด ป.ป.ช.ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีออกไปยังคงเหลือแต่เพียงหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการผู้นั้นและได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้น ดังกรณีของ”โอ๋ สืบ 6” พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา อดีต ผบก.สส.บก.น.6 ที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่กรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงที่ปล่อยอันธพาลทำร้ายม็อบพันธมิตรหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อปี 2549เป็นผลให้ ก.ตร.ได้มีคำสั่งปลดออกและศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของ ก.ตร.นั้นเสีย ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้มีคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่อีกครั้งหนึ่ง
จากที่กล่าวมานี้ก็หมายความการที่ศาลปกครองชั้นต้นรับพิจารณานั้นเป็นพิจารณาเฉพาะคำสั่งของหน่วยงานต้นสังกัดมิใช่การพิจารณาคดีต่อ ป.ป.ช.ซึ่งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญถึงแม้ว่าในคำพิพากษาจะกล่าวถึงการสอบสวนที่มิชอบก็ตาม กอปรกับคดีนี้ได้มีการพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานว่าศาลปกครองชั้นต้นจะสามารถพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไว้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตามแม้ว่าคดีนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นใหม่และมีโอกาสที่จะขึ้นไปสู่ศาลปกครองสูงสุดก็ตาม ป.ป.ช.เองย่อมสามารถที่จะนำข้อขัดแย้งระหว่างอำนาจหน้าที่กับศาลปกครองขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 211ของรัฐธรรมนูญได้อีกเช่นกัน ดังเคยมีกรณีตัวอย่างที่ ก.ก.ต.เคยนำคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดของ ก.ก.ต.โดยศาลปกครองไม่อำนาจพิจารณาพิพากษา จนเป็นเหตุให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างชัดเจนในมาตรา 223 วรรคสอง ทีได้ยกมาข้างต้นนั่นเอง
จริงอยู่โดยส่วนตัวผมเองไม่เห็นด้วยที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่องค์กรอิสระโดยไม่ถูกตรวจสอบ แต่เมื่อเป็นบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วตราบใดที่ไม่มีการแก้ไข เราก็ย่อมที่จะต้องปฏิบัติตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ก็ย่อมที่จะร้องต่อองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งในที่นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง มิใช่เลี่ยงไปว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542)มิใช่การใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ รัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ตัวรัฐธรรมนูญเองจะลงลึกไปในรายละเอียดได้ทั้งหมด
ส่วนผู้เสียหายจากคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.หากเห็นว่าเป็นการไต่สวนที่มิชอบหรือเกิดจากการกลั่นแกล้ง กระทำโดยสองมาตรฐานก็ชอบที่จะดำเนินคดีอาญาต่อ ป.ป.ช.เฉกเช่นกับที่ ก.ก.ต.ชุดพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เคยถูกดำเนินคดีจนต้องติดคุกติดตารางคดียังคาโรงคาศาลมาจวบจนบัดนี้
ส่วน ป.ป.ช.เองก็ต้องแก้ข้อกล่าวหาของการเลือกปฏิบัติให้ได้ว่าเหตุคดีเสื้อสีหนึ่งเร็วเป็นพิเศษ คดีของอีกเสื้อสีหนึ่งยังอืดเป็นเรือเกลือไปไม่ถึงไหนสักที ซึ่งก็ยังไม่รวมถึงที่มาที่ไปของ ป.ป.ช.เองว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯว่าด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่แล้วหรือยัง เพราะแม้แต่พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง ป.ป.ช.ชุดนี้ยังต้องรับการโปรดเกล้าฯทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้ต้องปฏิบัติ แต่ ป.ป.ช.แห่งกลับไม่ปฏิบัติทั้งๆที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติโดยไปอ้างเหตุผลว่าได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แต่ตัวรัฎฐาธิปัตย์เองกลับยังต้องรับการโปรดเกล้าฯ
อย่าลืมว่าการที่ตนเองจะวินิจฉัยลงโทษผู้อื่น ตนเองก็ต้องไม่มีแผลให้ถูกขุดคุ้ย การเมืองมาแล้วก็ไปโอกาสที่การเมืองจะพลิกผันเปลี่ยนขั้วมีได้ตลอดเวลา หากมัวแต่ให้ทุกข์แก่ท่าน ก็ระวังให้ดีว่าทุกข์นั้นจะถึงตัวเข้าสักวันเช่นกัน
*หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 มกราคม 2552