บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

จดหมายเปิดผนึก จาก"สมศักดิ์" ถึงนายกฯอภิสิทธิ์

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศษ




จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี

จาก สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

1131/45-47 อาคารชุดเคหสถานกรุงเทพฯ เขตดุสิต กรุงเทพฯ

วันที่ 27 มกราคม 2553




เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ/เขียนด้วยมือแล้วอย่าลบด้วยเท้า

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)



ตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคร่วมรัฐบาลตกลงจะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรา คือ มาตรา 190 เรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และมาตรา 94 เรื่องการเลือกตั้ง

และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติเมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2553) ว่าจะไม่เข้าร่วมในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณชน และกระผมเห็นว่ามีบางเรื่องบางประเด็นต้องกราบเรียนชี้แจงให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ทราบ ดังนี้

กระผมตระหนักดีว่า กระผมได้กลายเป็นสิ่งชำรุดเพราะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองและไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งการให้ความเห็นของผมครั้งนี้จึงไม่มีส่วนได้เสียทั้งสิ้นแต่ประการใด

1. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีคงจำได้ถึงการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลาง ก่อนการจัดตั้งรัฐบาล (ที่หลายคนเรียกว่าเป็นรัฐบาลโดยการผลักดันของคนบางกลุ่ม) เราได้พูดถึงข้อจำกัดของการทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยหนึ่งในนั้นที่พวกเราเห็นตรงกันคือข้อจำกัดในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้การทำงานบางอย่างไม่ราบรื่นนัก หลังจากนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เดินสายไปยังที่ต่างๆ เพื่อขอความเห็นชอบและตกลงร่วมกันในการที่จะทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย

2. ต่อมาไม่นาน พรรคฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดได้มีโอกาสพบพูดคุยกันที่บ้านคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ได้หารือกันถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองและตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการในวิธีต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขและคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็ว มาตรการต่างๆได้ถูกยกมาพูดคุย รวมทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยจนถึงขั้นให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคสรุปประเด็นที่ต้องการจะแก้ไขเสนอมาภายใน 1 สัปดาห์

3. หลังจากนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้เวทีรัฐสภาเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายเพื่อหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์สามัคคีร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมในวันนั้นมีความเห็นที่จะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้น โดยมีท่านดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมทั้งผู้แทนจากหลายฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ได้แยกการทำงานเป็นเรื่องการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำมาซึ่งข้อสรุปร่วมกัน 6 ประเด็นตามที่ทราบกันดี

4. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลได้มีโอกาสหารือกันอีกครั้งที่บ้านพิษณุโลก เห็นว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวน่าจะได้สอบถามไปยังประชาชนผ่านกระบวนการประชามติ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

5. การพบปะหารือของพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคยังคงมีอยู่เป็นระยะ และทุกครั้งก็จะมีการสอบถามความคืบหน้า แต่ทั้งหมดตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค เข้าใจดีว่าควรรอพ.ร.บ.ประชามติ ให้มีผลเสียก่อน

การพบกันของ 6 พรรคร่วมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ซึ่งท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประชุมมีความเห็นว่าน่าจะนำประเด็นการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ บางประเด็นมาพิจารณาได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการลงประชามติ คือการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ 94 โดยคำนึงถึงความพอดี ไม่เกินเลย ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จะไม่ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด ประการสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นจุดเริ่มของความแตกแยกครั้งใหม่ หรือขยายรอยร้าวให้เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก ซึ่งท่านสุเทพ รับปากจะนำไปหารือในพรรคอีกครั้งแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ พวกเราเข้าใจดีว่าการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ต้องรอมติของพรรค

พรรคร่วมทั้ง 5 พรรค ตระหนักดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร ในขณะที่ระยะเวลาของสภา เหลืออีกปีเศษใกล้หมดวาระ หากปล่อยเวลาทอดยาวออกไปคงไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ในระยะแรกทั้ง 5 พรรคจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกซึ่งมีมากพอ เพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาไปก่อน โดยจะไม่รอ มติของพรรคประชาธิปัตย์

6. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้หลายครั้งว่าพร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ พร้อมที่จะยุบสภา ถ้าหากปัญหาเศรษฐกิจสามารถแก้ไขได้ลุล่วง กติกาหรือรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงได้ในทุกพื้นที่ แต่ ณ ขณะนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทำเหมือนกับไม่พยายามเดินไปถึงจุดนั้น พรรคประชาธิปัตย์ทำตัวไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองพูด แทนที่จะช่วยกันผลักดัน กลับกลายเป็นอุปสรรคที่สร้างปัญหาให้เสียเอง วันเวลาและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลจึงเหลืออยู่น้อยเหลือเกินหากจะทำให้ได้ตามที่ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเคยปรารภไว้ และวาระที่เหลืออยู่น้อยนี่เองจึงเป็นเสมือน หนึ่งสัญญาณบอกให้รัฐบาลรู้ว่าเรากำลังเริ่มต้นนับถอยหลัง

7. การที่คนของพรรคประชาธิปัตย์พูดว่าการยื่นญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการยื่นเพื่อประโยชน์ของ ฯพณฯ บรรหาร คุณเนวิน หรือใครบางคน ถือเป็นคำพูดที่หมิ่นน้ำใจและดูถูกดูแคลนกันเกินไป ถามว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรานี้ ประสบความสำเร็จ ฯพณฯ บรรหาร คุณเนวิน หรือใครบางคนจะได้อะไรขึ้นมาบ้าง ประการสำคัญยังเท่ากับดูแคลนคณะกรรมการสมานฉันท์ ทั้งคณะไปพร้อมกัน เพราะประเด็นที่จะขอแก้ไข 2 ประเด็นจาก 6 ประเด็นนั้น ล้วนมาจากข้อสรุปของคณะกรรมการ ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของสังคม การกระทำเช่นนี้จึงยากที่กระผมจะยอมรับได้



8. จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องของพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เมื่อจุดเริ่มต้นเราเคยเห็นตรงกัน เราเคยคิดเหมือนกัน จึงต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้เราคิดต่างกัน

กระผมเคารพในการตัดสินใจของพรรคการเมือง เคารพในการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่อย่าเห็นในสิ่งที่คนอื่นทำเลวทั้งหมด ใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นตัวเองทำแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน กลับใช้ได้ทั้งหมด ทำดีทั้งหมด

เราเป็นนักการเมือง เราเป็นคนอาสาประชาชนเพื่อมาทำงานการเมือง หวังจะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเรา "เขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า" เช่นวันนี้



คำเตือน"นิกร จำนง"

ระวังอายุรัฐบาลไม่ยืด


มติพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่เพียงทำให้ผู้จัดการรัฐบาลอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค กลายเป็นแม่นมอมทุกข์สมฉายา

แต่ยังทำให้รุ่นเก๋าระดับ บิ๊กเติ้ง-บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่อุตส่าห์เดินสายกินข้าวกับพันธมิตรพรรคร่วม พลอยไม่สบอารมณ์อย่างแรง

แม้หัวขบวนใหญ่ยังเก็บอาการ ไม่ให้สัมภาษณ์ถึงอารมณ์เดือดปุดๆ ที่อยู่ข้างใน

แต่ความรู้สึกทั้งหลายสะท้อนผ่านคนใกล้ชิดอย่าง นิกร จำนง อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เป็นอย่างดี

เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์

พรรคการเมืองต้องตอบให้ได้ว่าคุณควรฟังอะไร ฟังเสียงของหลักสากลของประชาธิปไตย เสียงหลักการเหตุผล เสียงประชาชน รวมถึงฟังเสียงเพื่อนร่วมงานบ้าง ไม่ใช่ฟังแต่เสียงที่ก้องอยู่เฉพาะในพรรคตัวเองเพียงอย่างเดียว

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้พรรคร่วมรัฐบาลถูกมองว่าเสียเครดิต แก้เฉพาะตัว ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน แต่ความจริงเป็นเรื่องสำคัญมาก เรื่องนี้ควรเข้าสู่สภา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา เป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้ง การแก้ไขแค่มาตรา 190 กับเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งอยู่ใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เห็นว่าเป็นทางออกของประเทศ ถ้าแก้ได้บ้าง จะทำให้เป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คลี่คลายสถานการณ์ได้

เหมือนเปิดกรวยกาลดแรงกดดันในประเทศลงได้ ทำให้ฝ่ายที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังมีทางไปได้ ลดความขัดแย้งลงได้ แต่ขณะนี้สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง มันเหมือนกับไม่มีทาง จะรอถูกฉีกอย่างเดียวหรือ

รัฐธรรมนูญปี"50 เหมือนระเบิดเวลา ถ้าไม่ดับชนวนเสียบ้าง ปล่อยให้ชนวนเผาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักวันก็ระเบิด

การแก้ไขสัก 1-2 มาตราจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในเชิงสัญลักษณ์ เกิดขึ้นแน่ในเชิงรัฐศาสตร์ แต่เขาไม่เลือกกัน มีคำถามอีกว่ากรรมการสมานฉันท์ตั้งขึ้นมาทำไม ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น

สิ่งที่ต้องตอบให้ได้ขณะนี้คือ ตอบกรรมการสมานฉันท์ ตอบสังคมว่า ตั้งขึ้นมาทำไมในเมื่อไม่มีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ต้องตอบให้ได้

ประเด็นคือคุณต้องการความสมานฉันท์จริงหรือ ข่าวที่ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์บอกชัดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในความคิด แล้วอย่างนี้สนับสนุนให้ตั้งกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาทำไม

เท่ากับหลอกตัวเองและประชาชนมาตั้งแต่ต้น


เป็นคำถามที่ตอบยากมาก แต่ต้องมีคำถามต่อมาว่าจะกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างไร พูดได้เลยว่ากระทบกระเทือนแน่ กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลแน่นอน

อธิบายต่อประชาชนยาก ในเมื่อคนที่ทำงานร่วมกันเป็นคณะมีความเห็นไม่เป็นไปในทางเดียวกัน แม้ว่าจะเกิดจากหลักประชาธิปไตยก็เหมือนเกิดจากการลงคะแนนลับ ไม่ได้เกิดจากการปรึกษาหารือ เกิดจากเลขที่ออก เป็นการยืนความเห็นมากกว่า ดังนั้นอธิบายยาก

กระทบความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพรัฐบาลแน่นอน เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาที่ผูกขึ้นมาให้ได้ ในเมื่อตัดสินใจได้ก็ต้องรับผลของมันได้

ระหว่างที่เดินกันต่อไป มันต้องขลุกขลักแน่ มีแรงเสียดทานทางการเมืองมาก นำไปสู่เรื่องความมั่นคงของรัฐบาล สู่ปัญหาที่ปฏิเสธไม่ได้ นี่คือผลกระทบ ต้องยอมรับ อย่าปฏิเสธ

เกิดความคลอนแคลนระหว่างพรรคร่วมใช่หรือไม่

คงมีความรู้สึกกันบ้าง เพราะฝ่ายหนึ่งน้อยที่สุดแล้ว แต่ยังไม่เท่ากับมากที่สุดของอีกฝ่ายหนึ่ง พรรคร่วมอาจคิดว่าความจริงควรเป็น 6 ประเด็น แต่นี่เหลือน้อยที่สุดแล้ว คือประเด็นครึ่ง แต่ยังไม่เท่ามากที่สุดของเพื่อนร่วมงาน ย่อมมีความรู้สึกกันบ้าง

ความสัมพันธ์เริ่มร้าวฉาน

ประเมินลำบาก แต่คำถามที่จะตามมาคือใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ จะมาโทษผู้อาศัยอย่างนั้นหรือ โทษไม่ได้

แทนที่อายุรัฐบาลจะยาว คงถูกบั่นให้สั้นลง

ปัญหาคือประเมินไม่ได้ เหตุผลที่ทำให้ประเมินยากคือความไม่มีเสถียรภาพ หรืออีกความหมายหนึ่งคือความไม่แน่นอนทางการเมือง ความไม่มีเสถียรภาพนำไปสู่สิ่งที่ตอบไม่ได้

เหมือนส่งสัญญาณให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อม

พูดอย่างนั้นก็ได้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker