เรามักจะเข้าใจสับสนระหว่างคำว่าปฏิวัติกับรัฐประหารและก็ใช้กันบ่อยมาก ทั้งๆที่ทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลายคนเข้าใจ แต่ก็ยังใช้ปะปนกัน เพราะอาจเห็นว่าง่ายดี
คำว่าปฏิวัติ(Revolution) หมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบหรือระบอบการปกครองจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ส่วนรัฐประหาร(Coup d etat) คือการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล โดยระบอบการปกครองยังคงเดิม
ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว การปฏิวัติ(Revolution)เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในประเทศไทย คือ เมื่อวันที่ 24มิ.ย. 2475 เมื่อคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นอกนั้น เป็นรัฐประหารทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในสมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณหรือที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)
ขณะนี้ได้มีการพูดถึงการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง โดยที่นักการเมืองหรือแม้กระทั่งทหารเองก็ยังใช้สับสนกันอยู่ แต่ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่าไม่ว่าจะใช้คำไหนก็ล้วนแต่เป็นการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งนั้น
ที่มีการพูดถึงเรื่องรัฐประหารกันมากในช่วงนี้ ถือเป็นปรอทอุณหูมิการเมืองได้อย่างหนึ่งว่าการเมืองบ้านเราไม่ปกติ มีความขัดแย้งกัน ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อการเมืองมีปัญหาก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหารทุกที
การปกครองบ้านเราจึงกลายเป็นวงจรอุบาทว์ คือ มีเลือกตั้ง ได้รัฐบาล ทำรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งแล้วก็มีรัฐบาลวนเวียนอยู่อย่างนี้ หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์เสียที
แล้วคนไทยยังจะยอมให้บ้านเมืองมีสภาพถอยหลังเข้าคลอง นานาประเทศดูถูกดูแคลนซ้ำซากอยู่กระนั้นหรือ
ถ้าจะให้ปลอดจากการรัฐประหาร นอกจากนักการเมืองต้องมีอุดมการณ์ มีคุณภาพแล้ว ทุกฝ่ายรวมทั้งทหารด้วยต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ที่บ้านเมืองมันวุ่นวายกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาทางการปกครอง ก็เพราะความไม่รู้จักหน้าที่ตัวเองนี่แหละ
การเมืองเมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่เอาอำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ
เชื่อว่าข่าวลือเรื่องรัฐประหารต้องมีเค้าอยู่บ้าง ไม่งั้นคงไม่เป็นข่าวออกมาหรอก แม้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ยืนยันว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ แล้วก็มีการขานรับจากนายทหารคนอื่นๆว่าการปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย ทหารไม่เข้าไปยุ่งกับการเมืองบ้าง
แล้วทำไมคำพูดนี้ถึงไม่พูดในช่วงที่ทำรัฐประหารครั้งล่าสุด ในตอนนั้นถ้าไม่มีรัฐประหาร ปล่อยให้การเมืองแก้ปัญหากันเอง บ้านเมืองคงไม่บอบช้ำขนาดนี้หรอก
ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น ก็ในเมื่อผู้นำกองทัพหลายต่อหลายคนก็พูดแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ก็ทำรัฐประหารทุกที
อีกอย่างก็เป็นที่รู้กันดีว่าขณะนี้ได้เกิดภาวะวิกฤติทางการเมือง รัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเฉพาะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวออกมา รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์เจ๊งทันที และถ้าจะเอาตามที่กลุ่มพันธมิตรฯเสนอ คือ ให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะทู่ซี้ทนอยู่ได้สักกี่น้ำ
จึงเหลือทางเดียว คือ ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชานเหมือนกับที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯได้พูดเอาไว้
ถึงแม้การยุบสภาจะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย แต่ด้วยสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากันอยู่ ประกอบกับฝ่ายที่คุมเกมอำนาจของประเทศก็ไม่ต้องการให้ยุบสภา เพราะถ้ายุบสภาในตอนนี้ก็จะเข้าทาง”นายใหญ่”และพรรคเพื่อไทยทันที
ดังนั้น จึงเริ่มมีการพูดกัน คือ แทนที่จะ “ยุบ” ก็จะ “ยึด”แทน
ในขณะที่ คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยได้รุกหนักขึ้น หลังจากได้รับชัยชนะจากกรณีเขายายเที่ยงรวมไปถึงเขาสอยดาว ก็ได้เตรียมการชุมนุมใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นการรบขั้นแตกหัก
จากการวิเคราะห์ของนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้รัฐบาลต้องเฝ้าระวังมากขึ้น นายปณิธานบอกว่าฝ่ายเสื้อแดงมี 3 กลุ่มที่เคลื่อนไหว คือ กลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มฮาร์ดคอร์และผู้นำกระแสนิยมที่ใช้สื่อทั้งในและนอกประเทศ
โดยเฉพาะอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและอดีตนายทหารที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญพิเศษในบางด้าน
แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่านายปณิธานได้ทำตัวคล้ายนักการเมืองมากเข้าไปทุกที จากที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์เกาะติดบทบาทของทหารจนมีชื่อเสียง ทว่าปัจจุบันคราบของนักวิชาการไม่หลงเหลือแล้ว
ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากปัจจุบันนายปณิธาน ไม่ได้เป็นอาจารย์แล้ว แต่ได้สวมหัวโขนอีกหัวหนึ่งคือ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง
ดังนั้น สิ่งที่นายปณิธานแถลงหรือวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองก็ดี ไม่ได้ทำในฐานะเป็นอาจารย์
แต่ในฐานะที่ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกระบอกเสียงรัฐบาล
แต่ไม่ว่าอย่างไร การต่อสู้ทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายนับวันมีแต่ความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งพร้อมที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ
แต่เชื่อว่าคงไม่ง่ายเหมือนกับเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 เนื่องจากทุกวันนี้ประชาชนได้มีความตื่นตัวทางการเมือง ต่อต้านอำนาจนอกระบบมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่จะมีประชาชนทั่วไปต่อต้านการทำรัฐประหาร
อีกอย่าง ความแตกแยกได้เกิดขึ้นแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ตำรวจ ทหาร
ถ้าทำรัฐประหาร ทหารส่วนหนึ่งอาจจะเข้าร่วมประชาชนทำรัฐประหารซ้อน หรือจะเรียกว่าปฏิวัติประชาชนก็ได้