วันที่ 24 ม.ค. 2553 ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายจาตุรนต์ ฉายแสงกล่าวในการสัมมนาเรื่อง สองมาตรฐาน แนวโน้มความรุนแรงในสังคมไทย กรณีศึกษาเขายายเที่ยง ว่าหลายวันมานี้ มีข่าวเรื่องการรัฐประหาร มีการเตรียมต้านรัฐประหารพร้อมทั้งมีการไล่ล่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ขณะที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ออกมาปฏิเสธการไล่ล่าดังกล่าว ซึ่งสะท้อนซึ่งสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
“หากดูจากบรรยากาศการไล่ล่าเสธ.แดงก็จะเห็นว่าไม่ปกติแล้ว จะเห็นทหารทุกหน่วยไล่ล่าเสธ.แดง ล่าสุดศาลให้ออกได้แค่หมายเรียก แต่คุณไปสั่งไล่ล่า ถ้าดูจากข่าว ผบ.ทบ.บอกว่าไม่มีการไล่ล่า และในระหว่างนั้นดูเหมือนจะเสนอข่าวไปในทางเดียวกันที่เป็นความชอบธรรมที่จะไปไล่ล่าเสียเอง เสธ.แดงเองก็พูดเองว่าเดี๋ยวจะเกิดความรุนแรง ผู้ที่ต่อสู้กับประชาธิปไตยต้องปฏิเสธ การที่เตรียมนักรบเสื้อดำแล้วต้องไม่เอาด้วยเด็ดขาด”
นายจาตุรนต์กล่าวย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีรุนแรงและผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยต้องไม่สนับสนุนวิธีการที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์เปิดเผยว่าได้ทราบว่าทหารมีการเตรียมการรัฐประหารและขึ้นบัญชีดำผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองแล้วประมาณ 200 กว่ารายชื่อ และเรียกร้องให้ผบ.ทบ.ออกมาตอบคำถามดังกล่าว
“ผมได้ยินข่าวมา จากทหารและนายตำรวจผู้ใหญ่บางคนว่าผู้มีอำนาจในกองทัพบางคนมีแนวความคิดที่จะทำรัฐประหารอยู่และได้มีการขึ้นบัญชีดำเสื้อแดงและไม่เสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เขาให้ข้อมูลว่า มีการคุยกันว่าจะต้องทำ ถ้าคุมไม่อยู่ เอาไม่อยู่ก็จะทำรัฐประหารและขึ้นบัญชีดำแล้วสองร้อยกว่าชื่อ เมื่อเกิดกรณีสั่งล่าเสธ.แดง ต่อมา ผบทบ. บอกว่าไม่จริง ผมก็ต้องถามว่าแล้วที่บอกว่าขึ้นบัญชีดำเสื้อแดงและไม่แดงสองร้อยกว่ารายชื่อ จะต้องจัดการเสียก่อนจะจัดการแบบไหน จะไล่ล่าแบบเสธ.แดงหรือเปล่า เรื่องเสธ.แดงคุณบอกว่าไม่จริงแต่ก็เกิดไปแล้ว แล้วเรื่องนี้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่จริงต้องให้กองทัพเลิกความคิดนี้เสีย”
นายจาตุรนต์ระบุว่าเชื่อว่าคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่ขณะนี้พฤติกรรมของคนในรัฐบาล สื่อของรัฐ และข่าวสารที่มาจากกองทัพนั้น แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงนั้นจะมาจากกองทัพและฝ่ายรัฐบาลเอง และหากความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ยุติธรรม หรือเกิดรัฐประหารอีกสังคมไทยจะเผชิญความรุนแรงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งถ้าคิดจะห้ามความรุนแรง สิ่งที่ดีที่สุดคือกลับมาสู่ระบบมาตรฐานเดียวกัน ให้ความเท่าเทียมกัน และต้องล้มเลิกความคิดในการปราบปรามหรือจัดการเด็ดหัว
“นี่เป็นแนวคิดคล้ายๆ ที่ไปจัดการภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจัดการเพื่อจะทำลายล้างให้ราพนาสูรย์ ผมต้องสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย แถมปลุกระดมยั่วยุให้เกิดความรุนแรงโดยสื่อของรัฐเอง นายกและรัฐมนตรีทำอะไรกันอยู่”
ฉะกรณีเขายายเที่ยง สะท้อนความจริงใครคือผู้กำหนดว่าใครมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี
นายจาตุรนต์กล่าวด้วยว่า กรณีเขายายเที่ยงนั้นแสดงให้เห็นความเป็นสองมารฐานเกิดขึ้นหลายขั้นตอน โดยผู้ปฏิบัติงานหลายฝ่าย แต่ที่เห็นชัดๆ คือบทบาทของกรมป่าไม้ที่ม่ได้ดำเนินการอะไรมาตั้งแต่ต้นทั้งๆ ที่มีอำนาจดำเนินการได้ เป็นสองมาตรฐานระหว่างผู้มีอำนาจมีบารมี แต่ผู้ที่เป็นประชาชนตาดำๆ ทั่วไปถูกปฏิบัติอย่างหนึ่ง พอกระบวนการถึงอัยการก็ชัดเจนว่าเป็นอีกแบบหนึ่ง อัยการพูดชัดเจนว่าไม่เจตนาด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งการทำไปโดยไม่รู้สำนึกก็ไม่ใช่แน่ แต่สันนิษฐานว่าอัยการคงจะช่วยแก้ต่างว่าผู้ที่ไปครอบครองนี้อาจจะไม่รู้กฎหมาย เป็นที่ดินที่ผิดกฎหมาย ซึ่งก็มีคนวิจารณ์กันไปเยอะแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ถ้ามีคนไปร้อง ป.ป.ช. ก็น่าจะสอบอัยการได้ แต่ถ้าไปฟ้อง ป.ป.ช. ก็อาจจะมีปัญหา
"เรื่องนี้เป็นสองมาตรฐานกับนายกรัฐมนตรีสองคน คนหนึ่งมาจากการัฐประหาร อีกคนมากการเลือกตั้ง แต่โดยระบบของประเทศนี้ เป็นระบบที่จัดการกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้เร็วมาก แค่ทำครัวออกทีวีก็จัดการได้เร็ว แต่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารกลับไม่ทำอะไร"
นายจาตุรนต์กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่แสดงว่าจริงๆ แล้วใครคือผู้กำหนดว่าใครพึงมีสิทธิจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
"ความสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งระบบสองมาตรฐานได้ และทำให้สังคมไทยคิดหาทางออกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ระบบกฎหมายต่อไป ซึ่งน่าเป็นห่วง และน่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือผู้ที่อยู่ฝ่ายทำลายล้างให้ราบคาบเขามีการเตรียมการเป็นระบบ แต่แม้จะดำเนินการเป็นระบบแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ในช่วงหลังๆ นี้กระแสข่าวเรื่องการใช้กำลังต่างๆ มีกำลังมากขึ้น การเตรียมการอย่างเป็นระบบได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ทีวีของรัฐบาลเอง ปูทางในการจัดการกับประชาชน ทีวีของรัฐทำอย่างนี้ไม่ได้ ยิ่งกว่าสมัย 6 ตุลาอีก อีกหลายเรื่องที่มีการออกโทรทัศน์ของรัฐอย่างต่อเนื่อง ผิดกฎหมายแต่ไม่มีใครดำเนินการ"