โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
บ่ายวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 สำหรับประเทศไทยแล้ว ถือเป็นวันหยุดโลกซึ่งทุกฝ่ายจับตามองว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินคดียึดทรัพย์ที่สุดในประวัติศาสตร์มูลค่าถึง 76,621 ล้านบาท อย่างไร
มองกันว่า ไม่ว่า ผลของคดีจะออกมาอย่างไร อาจเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ
ในคดีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ เพราะได้ทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวมาจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี(ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2544-มีนาคม 2548)โดยมิชอบหรือใช้อำนาจ สั่งการ มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา กระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ
ดังนั้น โจทก์(อัยการสูงสุด) จึงร้องต่อศาลให้ยึดทรัพย์ทั้งหมด 76,621 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน
คำถามที่เจอเป็นประจำคือ ศาลจะสั่งจะยึดทรัพย์ทั้งหมด หรือยึดเพียงบางส่วน น้อยนักที่จะถามว่า ศาลจะยกฟ้องหรือไม่
เพื่อความเข้าใจว่าในการติดตามคดีนี้ ต้องรู้ว่า ประเด็นที่ศาลฎีกาฯต้องชี้ขาดมีอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ
หนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ "ซุกหุ้น"บริษัท ชินคอร์ปฯผ่านบริษัทและบุคคลต่างๆ เช่น บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ บริษัท วินมาร์ค ญาติพี่น้อง และลูกๆ หรือไม่เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธมาตลอดว่า ได้โอน(ขาย)หุ้นเหล่านี้ไปหมด ในช่วงดำรงตำแหน่งงนายกรัฐมนตรี
สอง พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป 5 กรณี หรือไม่ ดังนี้
1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ
2.กรณีการแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (PREPAID CARD) ให้กับบริษัท เอไอเอส
3.กรณีการแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (ROAMING) และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอส
4.กรณี อนุมัติ และส่งเสริมการลงทุนดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียม, การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์
5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์
ถ้าศาลเห็นว่า ประเด็นที่หนึ่งและสองเป็นไปตามข้อกล่าวหา ก็หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติจริง จึงจะเข้าสู่การพิจารณาประเด็นที่สามคือ การสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือยึดทรัพย์ว่า จะยึดทรัพย์สินบางส่วนหรือยึดทั้งหมดซึ่งมี 2 แนวคิดใหญ่ๆ
แนวคิดแรก คิดจากจากตรรกะพื้นฐานว่า ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯมีทรัพย์สินอยู่เท่าไหร่หรือมีมูลค่าเท่าใด นำไปหักออกจากมูลค่าทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงขึ้นในช่วงดำรงตำแหน่งที่ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ แล้วยึดทรัพย์สินส่วนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
แนวคิดที่สอง เป็นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มองว่า ต้องมีการลงโทษผู้กระทำผิด เพราะพ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของตนเอง แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้หุ้นซุกไว้กับผู้อื่น เท่ากับใช้ทรัพย์สินนั้นในการกระทำผิด
ดังนั้นเมื่อศาลตัดสินให้ยึดทรัพย์ ต้องยึดทั้งก้อน มิใช่คืนในส่วนต้นทุนเป็นทรัพย์สินเดิม ที่ยกเป็นตัวอย่างคือ เงิน 100 บาท นำมาใช้เป็นต้นทุนในการค้ายาเสพติด เพิ่มมาเป็น 1,000 บาท ศาลมีคำสั่งยึดทั้งหมด มิใช่เพียง 900 บาท
ที่พูดกันมากอีกประเด็นคือ มีการแทรกแซงการการพิจารณาคดีหรือไม่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้มีอิทธิพลทั้งการเมืองและการเงิน
ถ้าใครดูภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง "SWAT" ซึ่งเป็นตำรวจหน่วยหนึ่งมีหน้าที่ต้องคุมตัวผู้ต้องหาค้ายาเสพติดรายใหญ่จากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์คไปส่งที่เรือนจำรัฐ
ช่วงหนึ่งผู้ต้องหามีโอกาสให้สัมภาษณ์ทีวีได้ประกาศว่า ถ้าใครช่วยตนออกไปได้จะให้ 100 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 4,000 ล้านบาทในขณะนั้น)
เท่านั้นเอง บรรดาแก๊งอาชญากรรมทั้งนครนิวยอร์คผนึกกำลังขนอาวุธหนักถล่ม หน่วย SWAT อย่างหนัก แต่ก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด จนต้องมีการวางแผนนำตัวผู้ต้องหาหลบหลีกไปอีกเส้นทางหนึ่ง
แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคือ ตำรวจหน่วย SWATซึ่งอยู่ในคณะที่คุมตัวผู้ต้องหาเกิดทรยศเพราะต้องการเงิน 100 ล้านดอลลาร์ วางแผนพาตัวพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่หนีเสียเอง
แม้ตอนจบ หน่วย SWAT สามารถชิงตัวผู้ต้องหากลับมาได้ และคนที่ทรยศก็ถูกยิงตาย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า เงินจำนวนมหาศาลไม่เข้าใครออกใคร ขนาดจ้างผีโม่แป้งก็ยังได้
เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สิน 76,000 ล้านบาท แลกกับ 5,000 ล้านบาทแล้ว ถือว่า คุ้มค่ามาก
ส่วนตอนจบจะเป็นแบบ SWAT หรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไป