โดย ประชา ธรรมดา
21 มกราคม 2553
ปัญหาวิฤตการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาตินับวันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติโดยกลุ่มนายทุนอิทธิพลที่มีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นภ ายใต้การเอื้อประโยชน์จากรัฐผ่านนโยบายและกฏหมาย หรืออาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ใช้อำนาจบาตรใหญ่ใช้อิทธิพลร่วมมือกับข้าราชการบางหน่วยบางคน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่ออกมาปกป้องธรรมชาติต้องเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้นยิ่งขึ้นเช่นกัน
ยามเย็นของวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 นักสู้ลูกหลานของประชาชน "พิทักษ์ โตนวุฒิ" หรือ “พี่โจ” ของน้องๆชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขับมอเตอร์ไซค์กลับยังหมู่บ้าน ภายหลังกลับมาจากการปฏิบัติพันธกิจสำคัญ ประชุมเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบให้กับโรงโม่หิน ที่ว่าการอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อปกป้องสมบัติของแผ่นดิน
ยังมิทันถึงที่พักพิง"พิทักษ์ โตนวุฒิ" ถูกมือปืนสังหารอย่างเหี้ยมทมิฬ และสิ้นชีวิตลงในวันนั้น ภายหลังจากที่เขาได้เดินทางไกลมา ณ ดินแดนแห่งนี้
เขาได้เลือกทางเดินของชีวิต อุทิศตนเสียสละความสบายส่วนตน และความก้าวหน้าตามที่สังคมกำหนด มาร่วมสู้และได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติ เมื่อรัฐไทยได้มีนโยบายอนุมัติให้กลุ่มทุนเข้ามาสร้างโครงการโรงโม่หินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
"พิทักษ์ โตนวุฒิ" ชายหนุ่มจากบุรีรัมย์ อดีตประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านโครงการดังกล่าวที่ลิดรอนสิทธิการของชาวบ้านคนท้องถิ่นในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิชุมชน
"พิทักษ์ โตนวุฒิ" คงคิดว่าคนท้องถิ่นมีปัญหาในชีวิตให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมายอยู่แล้ว ไฉนต้องมีโครงการที่สร้างปัญหาเพิ่มเข้ามายัดเยียดให้อีกด้วยเล่า ในเมื่อโรงโม่หินที่มีอยู่แล้วก็ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากพอและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และก็ไม่เคยถามกันเลยว่า ชาวบ้านเขาต้องการหรือไม่
เมื่อรัฐและ เจ้าของโครงการไม่ฟังเสียงประชาชน พวกเขามีทางเลือกเดียวคือต้องต่อสู้
ท่ามกลางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ มีประชาชนท้องถิ่นหลายพื้นที่ในสังคมไทยที่ต้องต่อสู้เหมือนเช่น "พิทักษ์ โตนวุฒิ " เนื่องจากภายใต้การพัฒนาตามกระเแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่รัฐได้มีนโยบายการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาที่แย่งยึดปล้นชิงสมบัติของท้องถิ่นของประเทศชาติมาเป็นสมบัติส่วนตนของกลุ่มนายทุน โดยรัฐทำหน้าที่สนับสนุนเอื้อประโยชน์ให้
หรือมองทรัพยากรธรรมชาติเป็นเพียงสินค้าหากำไรมากกว่าคำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติที่ควรรักษาไว้ให้ยั่งยืน เฉกเช่น กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ทำลายป่าสักทองผืนสุดท้าย ซึ่งทำลายความหลายหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่หายากประเมินค่าทางเศรษฐกิจหามิได้ กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์ ที่ก่อสารพิษให้กับคนชุมชนรอบข้าง และอีกหลายกรณีหลายพื้นที่เกิดทั่วหัวระแหงในสังคมไทย
แท้ที่จริงแล้วรัฐบอกให้พวกเขาต้องเสียสละเพื่อ "กลุ่มทุน" หาใช่เพื่อ "ชาติ" ไม่ ?
การตายของ "พิทักษ์ โตนวุฒิ" นอกจากกลุ่มนายทุนอิทธิพลที่จ้างมือปืนเข่นฆ่าแล้ว กล่าวได้หรือไม่ว่า นโยบายของรัฐเป็นบ่อเกิดรากเหง้าปัญหาสำคัญยิ่งในการสังหาร "พิทักษ์ โตนวุฒิ" แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 40 และ 50 ปัจจุบันจะบัญญัติไว้ว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รัฐต้องเคารพสิทธชุมชน แต่รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงกระดาษอันว่างเปล่าหาได้เป็นกติกาการปกครองการบริหารของสังคมไทยอย่างแท้จริง ตราบใดที่อำนาจรัฐยังเมินเฉยแทนที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้าราชการบางส่วนได้ร่วมมือกับกลุ่มนายทุน กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ร่วมกันหาประโยชน์จากสมบัติสาธารณอย่างผิดกฎหมาย ที่เรียกกันว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลเกิดขึ้นควบคู่กับสังคมไทยมานมนานในการปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำไม้เถื่อน การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การรุกที่สาธารณะประโยชน์ ฯลฯ
เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ถ้ารัฐยังคงรวมศูนย์อำนาจโดยหน่วยงานเดียวไม่ว่า กรมป่าไม้ กรมที่ดิน สปก.กรมราชพัสดุ กรมชลประทาน เราจึงได้ยินข้อมูลข่าวสารว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบที่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย มีการรุกพื้นที่ป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กรณีการเช่าพื้นที่สวนปาล์มเกินกำหนดสัมปทานของนายทุน จ.กระบี่ จ.สุาษฎร์ธานี กรณีพื้นที่บ่อนอก-หินกรูด และอีกหลายพื้นที่ทำนองเดียวกัน
ท้ายสุด คงไม่มีใครปรารถนาให้การตายของ "พิทักษ์ โตนวุฒิ" นักรบผู้พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติสูญเปล่า รัฐต้องดำเนินการจับกุมมือปืนและผู้บงการอยู่เบื้องหลังหรือผู้มีอิทธิพล ให้ได้ และยุติการให้สัมปทานพื้นที่โดยเด็ดขาดไม่ว่าเพื่อโรงโม่ หรือเพื่อโครงการอื่นๆของรัฐ เช่น เขื่อน โดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา
และถ้าสังคมไทยไม่ต้องการให้มีการสูญเสียอีกต่อไป ต้องผลักดันให้รัฐไทยคืนอำนาจในจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างแท้จริง
ขอคาระจิตวิญญาณ "พิทักษ์ โตนวุฒิ" นักสู้ผู้อยู่ในหัวใจประชาชนชั่วนิรันดร์
0000
กำหนดการฌาปนกิจศพ นายพิทักษ์ โตนวุฒิ
ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาวัดบ้านชมภู ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก วันที่ ๒๑-๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
เวลา ๒๐.๐๐ น.พระสงฆ์สวดอภิธรรม
วันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
บรรจุศพ-สวดอภิธรรม
วันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
ติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ณ จังหวัดพิษณุโลก
วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
ลงศึกษาพื้นที่ต้นน้ำคลองชมภู/ชมนิทรรศการ
วันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
เวลา ๑๐.๐๐ น. เวทีเสวนา “บทเรียน มาตรการปกป้องนักต่อสู้และ
ชุมชนในสงคราการแย่งชิงทรัพยากร”
เวลา ๑๓.๐๐ น.พิธีรำลึก ประกาศเจตนารมณ์ “พิทักษ์ โตนวุธ”
เวลา ๑๔..๐๐ น.พิธีฌาปนกิจศพ