บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำไมชาว เฮติ ถึงยากจน ขณะที่ประชาชนถูกซ้ำเติมด้วยแผ่นดินไหว?

ที่มา Thai E-News


โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
15 มกราคม 2553

คำตอบสั้นๆคือ “จักรวรรดินิยม” เพราะภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดินิยมชาว เฮติ ถูกนำมาเป็นทาส ถูกปล้น ถูกกดขี่โดยเผด็จการ และเกาะเขาถูกยึดครองโดยทหารสหรัฐสามครั้ง

เกาะที่เดิมชื่อ Hispaniola ในทะเลแคริเบียนถูกแบ่งระหว่างสเปนกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1697 และภายใต้ระบบทาสในไร่อ้อยเกาะนี้สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับชนชั้นปกครองยุคกษัตริย์ของฝรั่งเศส

แต่ในปี 1791 ซึ่งตรงกับช่วงการปฏิวัติล้มเจ้าของฝรั่งเศสเอง ทาสทั้งหลายในเฮติได้ลุกฮือกบฏ และสร้างกองทัพเพื่อปลดแอกตนเอง ผู้นำสำคัญของกองทัพทาสคือ Toussaint L’Ouverture

และในที่สุด หลังจากการต่อสู้กับกองทัพจากอังกฤษและประเทศอื่น ที่ต้องการฟื้นฟูระบบทาส ชาวเฮติก็ได้รับชัยชนะ มีการยกเลิกทาส และประกาศให้เป็นประเทศอิสระภายใต้การปกครองของอดีตทาส

อย่างไรก็ตามในปี 1825 รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับให้เฮติจ่าย “ค่าชดเชยสำหรับสมบัติของฝรั่งเศสที่เสียไป” ถึง 150 ล้าน ฟรัง ซึ่งมีผลสำคัญที่ทำให้เฮติติดกับดักหนี้สินมาจนถึงทุกวันนี้

ในปี 1915 สหรัฐอเมริกาส่งทหารมายึดครองเฮติ และในเวลาต่อมาสหรัฐจะส่งทหารบุกเกาะนี้อีกสองครั้ง ในปี 1957 (ปีที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารในไทย)

สหรัฐให้การสนับสนุนกับเผด็จการโหดร้ายของ Papa Doc Duvalier เพราะสหรัฐมองว่าเป็นแนวร่วมสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

Papa Doc ชอบให้ประชาชนเรียกเขาว่า “พ่อ” และกดขี่ควบคุมประชาชนด้วยกองกำลังอันธพาลชื่อ Tonton Macoute

หลังจากที่ Papa Doc ตายในปี 1971 ลูกชายที่ทุกคนเรียกว่า “Baby Doc” ก็สืบทอดอำนาจพร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐต่อไป

พวกอภิสิทธิ์ชนของเฮติในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยตระกูลที่ได้ดิบได้ดีในยุคนี้ บวกกับพวกนายทหารชั้นสูง และพ่อค้า พวกนี้กอบโกยความร่ำรวยในขณะที่ประชาชนยากจน ทุกวันนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 บาทต่อวัน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีงานทำและรายได้ต่ำกว่านี้

ในปี 1986 มีการลุกฮือของมวลชนที่สามารถโค่นล้มเผด็จการ Baby Doc นี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนการ “Lavalas” ซึ่งชื่อ Lavalas หมายถึง “น้ำป่าท่วม” หรือ “มวลประชาชน” และเป็นขบวนการของคนยากคนจนที่ต้องเผชิญหน้ากับอภิสิทธิ์ชน หรืออำมาตย์

ผู้นำขบวนการนี้เป็นพระศาสนาคริสต์ชื่อ Jean-Bertrad Aristad และในปี 1990 Aristad ชนะการเลือกตั้งและขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีด้วยเสียงจากประชาชน 67%


คนยากคนจนแห่กันไปเลือกเขา เพราะเขาเสนอนโยบายปฏิรูปสังคมที่จะกระจายรายได้และสร้างความเป็นธรรม และแน่นอนพวกอำมาตย์เกลียดชังและโกรธแค้นในชัยชนะของ Aristad และทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาล

ในที่สุดเพียงหนึ่งปีหลังจากการเลือกตั้ง Aristad ถูกรัฐประหารทหารโค่นล้มไป พวกอำมาตย์ที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้รับการสนับสนุนแบบลับๆ จากสหรัฐอเมริกา

ในปี 1994 กองทัพได้บุกเข้าไปสังหารคนจนในสลัม และในที่สุดปัญหาความไม่สงบนี้กลายเป็นข้ออ้างของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดี Bill Clinton ที่จะส่งทหารบุกเฮติเป็นครั้งที่สอง

ในช่วงนี้อดีตประธานาธิบดี Aristad ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ถูกสหรัฐกดดันให้ยอมรับข้อตกลงพิษ สหรัฐสัญญาว่าจะให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้ แต่เงื่อนไขคือจะต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมตามคำสั่งของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ นโยบายดังกล่าวระบุว่าต้องตัดงบประมาณรัฐที่ลดราคาสินค้าจำเป็นให้คนจน ต้องมีการตัดสวัสดิการทุกอย่างและขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วจึงยิ่งยากลำบากมากขึ้น

อดีตประธานาธิบดี Clinton ที่บังคับใช้นโยบายนี้ และผู้ส่งทหารเข้าไปยึดครองเฮติ เป็นผู้ที่ถูกเสนอมาในยุคนี้ว่าจะประสานการแก้ปัญหาจากแผ่นดินไหว

สหรัฐอนุญาตให้ Aristad ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่หนึ่งปี และห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งหลังจากนั้น ต้องรออีกห้าปี พร้อมกันนั้นนโยบายเสรีนิยมที่ถูกนำมาใช้ได้ทำลายขบวนการ Lavalas จนเสื่อมไปจากเดิม คนจนส่วนใหญ่เริ่มหมดกำลังใจ

แต่อย่างไรก็ตามในปี 2000 Aristad ลงสมัครและชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

หลังชัยชนะครั้งที่สองของ Aristad พวกอภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์ก็เปิดศึกจับอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายอำมาตย์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐและฝรั่งเศส

และที่น่าสลดใจคือได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ประชาสังคม” และองค์กรเอ็นจีโอสากลอีกด้วย

กลุ่มที่อ้างว่าเป็น “ประชาสังคม” แท้ที่จริงเป็นกลุ่มของนักธุรกิจและนายทุนที่คัดค้านการกระจายรายได้และการปฏิรูปสังคม ส่วนเอ็นจีโอสากลมีบทบาทในการให้บริการกับประชาชนแทนรัฐบาลที่ไม่มีเงิน

เงินทุนของเอ็นจีโอเหล่านี้ได้มาจากรัฐบาลสหรัฐและคานาดา และวิถีชีวิตของนักเอ็นจีโอไม่ต่างจากวิถีชีวิตของคนชั้นสูงในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน

ในที่สุดมีการทำรัฐประหารครั้งที่สองเพื่อล้ม Aristad ในปี 2004 (สองปีก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาในไทย) และพวกประชาสังคมและเอ็นจีโอก็สนับสนุนรัฐประหาร (ไม่ต่างจากไทย) อย่างไรก็ตามมีนักเอ็นจีโอรากหญ้าในองค์กรเล็กๆ บางแห่งที่ใกล้ชิดประชาชนซึ่งเข้าข้าง Lavalas และประชาธิปไตย

Aristad ถูกขับออกนอกประเทศอีกครั้งในเครื่องบินของสหรัฐ และรัฐบาลสหรัฐภายใต้ George Bush ก็สั่งให้ทหารยึดครองเฮติเป็นครั้งที่สาม หลังจากนั้นสหรัฐโอนอำนาจทางทหารให้สหประชาชาติ และกองกำลังสหประชาชาติก็ถูกใช้ในการปราบปราบขบวนการ Lavalas

เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมประชาชนเกาะเฮติถึงยากลำบากแบบนี้ และเรื่องราวของเฮติมีบทเรียนหลายอย่างเกี่ยวกับ จักรวรรดินิยม นโยบายเสรีนิยม บทบาทสหประชาชาติ และท่าทีของเอ็นจีโอกระแสหลักต่อประชาธิปไตย

โชคดีจังเลยที่ประเทศไทยไม่ได้เหมือนเฮติเพราะเรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งปกป้องโดยทหาร พันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์!!

แหล่งข้อมูลและอ่านเพิ่ม: Peter Hallward (2007) Damming the Flood. Haiti, Aristide, and the Politics of Containment. Verso, London, New York.


--
ติดตามผลงานของใจอึ๊งภากรณ์

http://siamrd.blog.co.uk/
http://wdpress.blog.co.uk/
http://redsiam.wordpress.com/

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker