มีคำที่ผมคิดว่าสำคัญและได้ยินบ่อยมากเลยในชีวิต แต่ผมไม่รู้ว่าความหมายที่แท้จริงของคำๆนั้นคืออะไร นั่นคือคำว่า “คุณธรรม” กับ “จริยธรรม”
จนวันหนึ่งผมได้มาอ่านหนังสือจริยศาสตร์ตะวันตก จึงพอจะรู้ความหมายอย่างที่จะขอแลกเปลี่ยนต่อไปนี้
“คุณธรรม” (virtue) หมายถึง บุคลิกภาพ (character) หรือนิสัย (habit) ที่ดีเลิศ (excellence) เช่น บุคลิกภาพ/นิสัยที่ดีเลิศด้านปัญญา ความกล้าหาญ ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ ความรักเพื่อนมนุษย์ ฯลฯ
คุณธรรมเกิดจากการฝึกฝนตนเอง หรือการปฏิบัติเช่นนั้นจนเป็นบุคลิกภาพหรือนิสัยที่ดีเลิศประจำตัวบุคคล เช่น คนที่มีคุณธรรมคือความยุติธรรม ได้แก่คนที่มีจิตใจรักความเป็นธรรมและประพฤติปฏิบัติตนจนเป็นที่ประจักษ์ว่า บุคคลผู้นี้มีนิสัยยุติธรรมหรือ “เป็นคนยุติธรรม” อย่างคงเส้นคงวา
ส่วน “จริยธรรม” หมายถึง หลักการ (principle) หรือ กฎ (rule) ที่มนุษย์พึงยึดถือปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน เช่น หลักจริยธรรมสากล ได้แก่หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เป็นหลักการหรือกฎสากลที่มนุษย์พึงยึดถือปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน
จริยธรรมอื่นๆ ก็มีลักษณะเป็นหลักการ หรือกฎในการอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น เช่น จริยธรรมของศาสนา (เช่นศีล 5) จริยธรรมวิชาชีพครูอาจารย์ จริยธรรมแพทย์ จริยธรรมนักการเมือง ฯลฯ
ในการตัดสินเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม เราพิจารณาที่ “ตัวบุคคล” (agent-based) โดยพิจารณาว่า เขามีบุคลิกภาพหรือนิสัยที่ดีเลิศในด้านใด ส่วนการตัดสินเรื่องจริยธรรม เราพิจารณาจาก “ตัวการกระทำ” (action-based) ว่า การกระทำนั้นๆถูก/ผิดกฎจริยธรรมอะไร
จากเกณฑ์ตัดสินทั้งสองนี้จะเห็นได้ว่า เรื่องคุณธรรมเน้นไปที่ “ปัจเจกบุคคล” คือเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลจะต้องเข้มงวดกับตัวเองในการฝึกฝนตนเองให้เป็น “คนมีคุณธรรม” หรือเป็น “คนดี” (virtuous person) สังคมไม่อาจเรียกร้องหรือบังคับให้ปัจเจกบุคคลมีคุณธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น ให้มีปัญญา ความกล้าหาญ ความเมตตา ฯลฯ)
แต่จริยธรรมเป็นเรื่อง “สาธารณะ” หรือเป็นเรื่องที่สังคมอาจเรียกร้องปัจเจกบุคคลได้ว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎจริยธรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น ต้องไม่ละเมิดศีลข้อ 2 โดยการลักขโมยหรือทุจริตคอรัปชัน ต้องไม่ละเมิดจริยธรรม หรือจรรยาบรรณวิชาชีพครู แพทย์ นักการเมือง องคมนตรี ฯลฯ
ฉะนั้น สาระสำคัญของจริยธรรมจึงมีลักษณะเป็น “พันธะ” (moral obligation) หรือข้อผูกพันที่เราต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นและสังคม พูดอีกอย่างคือจริยธรรมเป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปในทางที่ปกป้องคุณค่าของมนุษย์ สิ่งที่ดีอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม และประโยชน์สุขในการอยู่ร่วมกัน
จากความหมายดังกล่าว หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “สาธารณะ” เราไม่มีหน้าที่เรียกร้อง “คนมีคุณธรรม” หรือ “คนดี” (แต่เราอาจส่งเสริมการศึกษาหรือกิจกรรมที่เอื้อต่อการที่ปัจเจกบุคคลจะมีโอกาสพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีคุณธรรมหรือเป็นคนดี) หน้าที่ของเรา คือต้องปกป้องหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง และเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง
แต่ในสังคมไทยกลับเกิด “ภาวะกลับหัวกลับหาง” คือ เราให้ความสำคัญกับการเรียกร้องคนมีคุณธรรมหรือคนดี เหนือกว่าการปกป้องหรือเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง หรือให้ความสำคัญกับคนมีคุณธรรมหรือคนดี ยิ่งกว่าให้ความสำคัญกับหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง ฉะนั้น สังคมจึงยอมรับรัฐประหารที่เกิดจากคนมีคุณธรรมหรือคนดีได้ ทำให้สังคมไทยไม่อาจพ้นไปจากวงจรอุบาทว์รัฐประหารล้มประชาธิปไตยเสียที
นี่คือปัญหาที่สังคมให้ “อภิสิทธิ์” กับ “คนมีคุณธรรม” หรือ “คนดี” ให้สามารถละเมิด หรือแม้กระทั่งล้มหลักการหรือกฎที่ถูกต้องได้
นอกจากนี้การที่สังคมให้ความสำคัญกับการเรียกร้อง “คนดี” มากกว่าการเรียกร้องให้ปฏิบัติตาม “หลักการ” หรือ “กฎ” ที่ถูกต้อง ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “สองมาตรฐาน”
เพราะเมื่อเกิดข้อสงสัยเรื่องการปฏิบัติผิดกฎเดียวกันระหว่างคนที่สังคมมองว่าเป็น “คนดี” กับ “คนไม่ดี” สังคมย่อมโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าคนดีไม่ทำ(หรือไม่มีเจตนาที่จะทำ)ผิด หรือแม้กระทั่งเห็นใจหรือเอาใจช่วยคนดีให้พ้นผิด แต่กลับเชื่อ(โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์)ว่า คน(ที่สังคมมองว่า)ไม่ดีทำผิดและเรียกร้องเร่งรัดให้นำตัวมารับผิด ทั้งที่ในทางที่ถูกแล้วคนดีและคนไม่ดีต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์การกระทำผิดกฎตามกระบวนการที่ถูกต้องโปร่งใสอย่างเสมอภาคกันทั้งสองฝ่าย
อันที่จริง โดยทั่วไปแล้วคุณธรรมกับจริยธรรมเป็นสิ่งที่สนับสนุนกัน กล่าวคือ คุณธรรมหรือบุคลิกภาพ/นิสัยที่ดีเลิศย่อมทำให้บุคคลมีความโน้มเอียงที่จะปฏิบัติตามหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หลักไตรสิกขา “ศีล” คือหลักจริยธรรม ส่วน “สมาธิ” และ “ปัญญา” คือคุณธรรม คนที่ฝึกฝนให้ตนเองมีคุณธรรมคือสมาธิและปัญญาย่อมทำให้เขาเข้าใจความมุ่งหมาย เห็นคุณค่าและปฏิบัติตามหลักศีลหรือหลักจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันทางสังคมได้อย่างยั่งยืน
เช่นเดียวกันในเรื่องจริยธรรมสากล หลักจริยธรรมสากลเป็น “จริยธรรมภาคสาธารณะ” (public morality) ในฐานะที่เป็นหลักการหรือกฎที่ถูกต้องที่สังคมพึงปกป้องและยึดถือปฏิบัติร่วมกัน ส่วน “จิตสาธารณะ” (public spirit) เป็นคุณธรรมของปัจเจกบุคคลที่ทำให้เขามีบุคลิกภาพ/นิสัยโน้มเอียงไปในทางที่จะปกป้องและยึดถือปฏิบัติตามหลักจริยธรรมภาคสาธารณะอย่างเป็นปกติ
จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร การสอน การศึกษาอบรม การปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในบ้านเรา จึงทำให้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมกลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่เน้นการสร้าง “คนมีคุณธรรม” หรือ “คนดี” แต่ให้ความสำคัญน้อยกับการทำความเข้าใจความหมาย/คุณค่าของ “หลักการ” หรือ “กฎ” ที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดวัฒนธรรม “ยึดคนดีเหนือหลักการ” ให้อำนาจแก่คนมีคุณธรรมหรือคนดีเป็นผู้ตัดสินดี ชั่ว ถูก ผิดในสังคมแทนคนทั้งประเทศ กระทั่งให้อภิสิทธิ์แก่คนพวกนี้ละเมิดหรือกระทั้งล้มหลักการหรือกฎที่ถูกต้อง