1 มกราคม วันแรกของศักราชใหม่ 2553
ผู้คนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ ถือว่าเป็นวันดี
เป็นวันแห่งการเริ่มต้นวัฏจักรการดำเนินชีวิตในรอบปีใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามา
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" จึงใช้โอกาสในวันเริ่มต้นของปี 2553 มองสำรวจไปข้างหน้า เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในรอบปีนี้
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่แล้ว ทีมของเราเคยชี้เอาไว้ว่าปี 2552 เป็นปี "วัดดวง หยุดฝันร้าย"ผลปรากฏว่าเวลาและสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบขวบปีที่ผ่านมา ได้ให้คำตอบออกมาเป็นที่ชัดเจน
ยังหยุดฝันร้ายไม่ได้
แถมยังเกิดวิกฤติความวุ่นวายม็อบเสื้อแดงก่อเหตุบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่พัทยา ก่อเหตุจลาจลช่วงสงกรานต์
เกิดปัญหากระทบความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ถึงขั้นลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกัมพูชาฝันร้ายยังตามหลอกหลอนเกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
แต่ก็ยังมีช่วงเว้นวรรค ที่ทำให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศมีความสุขใจและความปลื้มปีติอย่างยิ่ง ก็คือห้วงแห่งการเฉลิมฉลอง วันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม
รวมถึงห้วงปลายปีที่มีข่าวอันเป็นมงคลสูงสุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรแล้ว เพียงแต่ยังทรงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อพักฟื้นพระวรกาย
เป็นผลให้พี่น้องประชาชนได้ฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยความสุขใจอย่างเต็มที่
ช่วยทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองผ่อนคลายลงไปได้เยอะเลย
แต่อย่างไรก็ตาม ในห้วงท้ายปี ก็มีสัญญาณแทรกมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุถึงเรื่อง "จุดเดือด"
หลังจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ปฏิเสธข่าวเรื่องการรับเป็นคนกลางเจรจาสงบศึก
"ทักษิณ" ประกาศเปรี้ยง "บ้านเมืองคงต้องอึมครึมต่อไป ในเมื่อผู้มีอำนาจมองว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีจุดเดือดของมันอยู่"
ในขณะที่ม็อบเสื้อแดงก็มีการขยับรับลูก ออกมาเคลื่อนไหวบุก กกต. จุดประทัด เผาโลงศพ กดดันนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท
โหมโรงส่งท้ายปี พร้อมประกาศจะเปิดศึกแตกหักกับรัฐบาลต้นปี 2553
แน่นอน หลังจากฉลองปีใหม่ 2553 ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเจอ ภายใต้เกมในระบบ คือ การเมืองในสภาฯ
วันที่ 21 มกราคมนี้ ได้ฤกษ์เปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่
ซึ่งจะเป็นการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นเป้าใหญ่
รวมทั้งรัฐมนตรีรายกระทรวงที่ฝ่ายค้านกาหัวไว้แล้ว อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ รวมทั้งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในกรณีที่ไม่ปรับ ครม.ชิ่งหนีไปซะก่อน
แต่ล่าสุดมีแนวโน้มที่รัฐบาลอาจจะมีการปรับ ครม. ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเหตุที่นายวิทยา แก้วภราดัย ลาออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านต้องขุดคุ้ยทุกเรื่องทุกประเด็นที่ได้ โหมโรงเอาไว้มาอภิปรายโจมตี ทั้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ ปัญหากัมพูชา ปัญหาทุจริตคอรัปชัน ความไม่โปรงใสในการดำเนินโครงการต่างๆ งานนี้ พรรคเพื่อไทย ต้องโหมถล่มอย่างเต็มที่
เพราะถ้าฝ่ายรัฐบาลเสียงแตก นายกรัฐมนตรีก็มีสิทธิหลุดจากเก้าอี้
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองโดยพื้นฐานความเป็นจริงทางการเมืองในสภาวะปัจจุบัน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล
และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนาพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม
ไม่มีพรรคไหนต้องการกลับไปสู่สนามเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครพร้อม และไม่มั่นใจว่าเลือกตั้งแล้วจะได้กลับมาเป็นรัฐบาล
เพราะทุกพรรครู้ดีว่า สู้กับกระแส "ทักษิณ" เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสขนาดไหน
ที่สำคัญ พรรคร่วมและพรรคแกนนำ ยังไม่มีปัญหาขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นที่จะต้องแตกหัก ไม่ร่วมสังฆกรรมกัน
อย่างการที่พรรคร่วมรัฐบาลผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเรื่องเขตเลือกตั้งที่ต้องการกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขตละคน และมาตรา 190
นายกฯอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้ขัดข้องขัดขวาง โยนให้เป็นเรื่องของสภาฯที่จะไปว่ากันเอง
สรุปก็คือ ผลประโยชน์ร่วมในการเป็นรัฐบาลยังดึงดูดให้เกิดการยึดโยงอยู่ร่วมกันต่อไป
ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังจับมือกันแน่น
และด้วยจำนวนเสียงในสภาฯที่มากกว่าฝ่ายค้าน สุดท้ายแล้วศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลยังกุมสภาพอยู่
แต่ก็จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่แรงที่สุดในประวัติศาสตร์ การอภิปรายจะดุเดือด ต้องประท้วงกัน ชุลมุนวุ่นวายแน่
เพราะฝ่ายค้านอั้นมานาน ต้องการโค่นรัฐบาลให้ได้
ขณะที่ในสภาฯฝ่ายค้านเปิดเกมถล่มรัฐบาลเต็มที่ นอกสภาฯกลุ่มคนเสื้อแดงก็รับลูก เดินเกมเคลื่อนม็อบกดดัน
ประกาศจะนัดชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงช่วงกลางเดือนมกราคม เผด็จศึกขั้นแตกหักขับไล่รัฐบาล
ว่ากันว่าการเคลื่อนม็อบเสื้อแดงคราวนี้จะระดมพลกันเต็มที่แบบแดงทั้งแผ่นดิน สู้แบบเกหมดหน้าตัก
การเปิดเกมเคลื่อนไหวทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ ในห้วงตั้งแต่กลางเดือนมกราคมนี้มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ เดียวกัน คือ
1. ต้องการล้มล้างรัฐบาลให้ได้ 2. เอา "ทักษิณ" กลับประเทศไทย โดยไม่มีความผิด 3. ทวงคืนขุมทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ที่โดนอายัดไว้
เหนืออื่นใด การโหมเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย และกลุ่มม็อบเสื้อแดง ที่แยกกันตีทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ ในช่วงต้นปี 2553
ต้องยอมรับว่าอยู่ในห้วงคาบเกี่ยวกับการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีการตัดสินคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านของ "ทักษิณ" ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ทั้งนี้ เมื่อการพิจารณาไต่สวนเสร็จสิ้น และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาตัดสินออกมาอย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นที่สุด
ที่สำคัญ "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอชี้ว่าผลการตัดสินในคดีนี้จะส่งผลต่อการเมืองไทยในปี 2553 ได้หลายรูปแบบ
เพราะผลของการตัดสินคดียึดทรัพย์โดยปกติทั่วไปจะมีทางออกได้ 3 แนวทาง คือ
1. ยึดทรัพย์ทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
2. คืนทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลย
3. ยึดทรัพย์สินบางส่วน และคืนบางส่วน ในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นได้มาโดยสุจริต
ซึ่งในคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทของ "ทักษิณ" ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนที่เกี่ยวโยงกับบุคคลแวดล้อมใกล้ชิด ทั้งอดีตภริยา ลูกชาย ลูกสาว และญาติพี่น้อง
ทั้งหมดทั้งปวงก็ต้องว่ากันตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ ในห้วงที่กำลังจะมีการตัดสินคดียึดทรัพย์ในห้วงต้นปีนี้
เหมือนเป็นคนละเรื่อง แต่เป้าหมายเดียวกัน
และเป็นปมร้อนที่กระทบต่อการเมืองโดยตรง
โดยอาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤติในบ้านเมืองรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือคลี่คลายลง ก็ขึ้นอยู่กับผลการตัดสินคดียึดทรัพย์ที่จะออกมา
เพราะวิกฤติการเมืองจากวิกฤติ "ทักษิณ" ที่เผชิญกันมา 3 ปี และกำลังขึ้นปีที่ 4 ในปีนี้ มีความเกี่ยวโยงอยู่กับคดียึดทรัพย์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ทีมของเราขอบอกว่า สถานการณ์ การเมืองในปี 2553 จะเกิดปัญหาวิกฤติรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีใครฟันธงได้
แต่สิ่งหนึ่ง ที่เป็นปรากฏการณ์จากปลายปีที่แล้วในห้วงแห่งวันมหามงคล
"สีชมพู" พรึบทั้งแผ่นดิน
สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยยังมีความรัก มีความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พ่อของแผ่นดิน"
เมื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศยังมีศูนย์รวมจิตใจยึดโยงร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
ที่พอจะบ่งชี้ได้ว่า แม้สถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นในปี 2553 จะเกิดเหตุการณ์วิกฤติรุนแรงมากมายขนาดไหน
"พลังสีชมพู" ที่เป็นพลังเงียบของสังคมไทย จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ร้ายๆและรุนแรงในบ้านเมือง
วิกฤติหนัก ก็จะกลายเป็นเบา
ถ้าวิกฤติเบา ก็จะนำไปสู่การยุติความเลวร้ายที่เป็นผลจากวิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ต่อเนื่องมานาน
ดังนั้น ปี 2553 จึงถือว่า
เป็นปีแห่งพลังสีชมพู คือความหวัง.
"ทีมการเมือง"