บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

สิ่งที่น่าตกใจในคดีซาอุฯ

ที่มา ไทยรัฐ

บทบรรณาธิการ

มีการคาดหมายว่าความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย น่าจะดีขึ้น หลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจ ภูธรภาค 5 กับพวกรวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นคดีที่ ยืดเยื้อมานานเกือบ 20 ปี และผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล จนจะขาดอายุความในอีกไม่กี่วัน แต่ไม่มีรัฐบาลใดสามารถคลี่คลายคดีได้

แต่ความหวังที่จะให้ซาอุดีอาระเบีย ยกระดับความสัมพันธ์กับไทยให้เป็นปกติ จากระดับอุปทูตเป็นเอกอัครราชทูตเหมือนเดิม รวมทั้งเปิดตลาดแรงงาน ให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานได้ คงจะต้องใช้เวลา ซาอุดีอาระเบียต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งรัดอีก 2 คดี คือคดีฆ่าเจ้าหน้าที่การทูต 3 คน และการโจรกรรมเพชรซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมดเป็นเหตุให้ซาอุดีอาระเบียลดความสัมพันธ์กับไทย

เป็นอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่จะทำการคลี่คลายคดีต่างๆต่อไป แต่ที่น่าตกใจก็คือ ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย จึงถูกกล่าวหาในคดีอาญาร้ายแรงถึงเพียงนี้ และคดีนี้ก็ไม่ใช่กรณีแรก ที่นายตำรวจระดับสูงของไทย ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับซาอุดีอาระเบียอีกคดีหนึ่งซึ่งโด่งดังมาก และยืดเยื้อมานานหลายปี นายตำรวจระดับนายพลถึงกับต้องโทษประหารชีวิต

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมตำรวจไทยจึงถูกกล่าวหาในความผิดทางอาญาร้ายแรงมีคำตอบจากนักกฎหมายบางคนว่า เนื่องจากในอดีต โดยเฉพาะก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยธรรมเป็นทางการ และไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เช่น การจับกุมผู้ต้องสงสัยจะต้องได้ขอหมายจับจากศาล เป็นต้น

คำอธิบายดังกล่าวอาจจะเป็นความจริงส่วนหนึ่ง คือไม่มีรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพประชาชน และไม่มีองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน ยิ่งถ้าย้อนหลังไปอีกเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ยิ่งจะเห็นว่ามีตำรวจถูกกล่าวหาในคดีร้ายแรงเป็นอันมาก แต่ความจริงอีกส่วนหนึ่งก็คือ มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการอุ้มฆ่า เช่น กรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร แม้หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540

รัฐธรรมนูญ 2540 นอกจากจะมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน และปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังให้กำเนิดองค์กรอิสระต่างๆ มากมาย สังคมไทยมีการตื่นตัวในด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และรัฐบาลก็ได้ตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยหวังว่าจะเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่ต่างจากตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หวังว่าจะเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

แต่เช่นเดียวกับการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 การปฏิรูปวงการตำรวจก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ และยังไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ แม้จะมีรัฐธรรมใหม่ มีการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อบังคับให้ ตำรวจปฏิบัติต่อผู้ต้องหาด้วยความเป็นธรรม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสอย่างตรงไปตรงมา ตามกฎหมายของบ้านเมือง.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker