คอลัมน์ รายงานพิเศษ
โดยมีข่าวออกมาว่านายอภิสิทธิ์ ขอให้พล.อ.เปรม ช่วยเคลียร์กับ นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ยุติบทบาทการเป็นหัวหอกนำพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลในเรื่องนี้
ล่าสุดแม้นายอภิสิทธิ์ จะปฏิเสธอ้างว่าการเข้าพบ "ป๋าเปรม" เพื่ออวยพรปีใหม่เท่านั้น ไม่มีเรื่องการเมืองเกี่ยวข้อง
แต่ 3 พรรคร่วมยังคงเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญใน 2 ประ เด็น คือ มาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา และเรื่องระบบเขตเลือกตั้งที่ต้องการเปลี่ยนจากพวงใหญ่เรียงเบอร์ กลับมาใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว
พร้อมประกาศทั้ง 3 พรรคมีรายชื่อ 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา จะยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี"50 ทันทีที่เปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 21 ม.ค.
ขณะที่ท่าทีของประชาธิปัตย์ยังยื้อเกมไปมา แล้วการเดิน หน้าแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้
ภราดร ปริศนานันทกุล
วิปรัฐบาลพรรคชาติไทยพัฒนา
ขณะนี้ 3 พรรคคือ ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และเพื่อแผ่นดิน เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน 2 ประเด็น ที่ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม คือมาตรา 190 และกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นเขตเล็ก ใช้เสียงเพียง 125 เสียงหรือ 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา
ทั้ง 3 พรรคจะลงชื่อทันทีเมื่อเปิดประชุมสภา 21 ม.ค. เมื่อได้รายชื่อครบจะยื่นต่อประธานสภา หากเสียงยังไม่มากพอ จะหาจากสมาชิกรัฐสภาที่เห็นตรงกัน ไม่ว่า ส.ส. ส.ว.
เรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ทุกคนในรัฐสภามีความเห็นร่วมกันได้ แต่คงต้องถามวิปพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่าเห็นอย่างไร จะดำเนินการอย่างไร
ที่มองว่า 3 พรรคโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายกฯ พูดเองว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภา เราจึงพูดกันตลอดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับสถานะของรัฐบาลหรือพรรคร่วมเป็นคนละเรื่องกัน
เชื่อว่าไม่กระทบต่อสถานะพรรคร่วม ผู้ใหญ่ในรัฐบาลคงพูดคุยกันแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภา
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ
ประธานวิปรัฐบาล
การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นกระบวนการที่วิปรัฐบาลต้องหารือร่วมกันอีกครั้งถึงกรอบและแนวทาง พรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคชาติไทยพัฒนาระบุว่ายอมถอยให้เหลือ 2 ประเด็นนั้น เรื่องนี้ไม่มีใครติดใจ
แต่ติดใจเรื่องกรอบการทำงาน ว่าเห็นด้วยตามคณะกรรมการสมานฉันท์ฯหรือไม่ พรรคร่วมจึงต้องหารือ อีกครั้งหลังเปิดสมัยประชุมสภาเพื่อหาข้อยุติ
ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ แต่เมื่อทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องแก้ก็ต้องเดินหน้า พรรคไม่ขัดข้อง แต่การแก้จะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงในสภา ต้องฟังภาคประชาชนว่าเห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอหรือไม่
คงไม่มีปัญหา พรรคร่วมเข้าใจว่าถึงที่สุดแล้วการแก้ต้องใช้ 312 เสียง ที่ผ่านมาทุกคนเห็นแล้วว่าพรรคเพื่อไทยต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี"40 กลับมา รวมถึงกลุ่มของ น.พ.เหวง โตจิราการ ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมสภา
ต้องชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ก่อน หากเสนอเข้ามาแล้วไม่ผ่านสภาก็ต้องตกไปอยู่ดี พรรคร่วมควรคิดให้รอบคอบ พรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ถ้าเสนอมาต้องตกไปอยู่ดี
พรรคร่วมออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักในช่วงนี้ ไม่ถือเป็นการกดดันใดๆ ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่เมื่อทุกฝ่ายยอมรับสิ่งที่คณะกรรมการ สมานฉันท์ฯเสนอมา เราไม่ขัดข้อง
เพราะทุกพรรครู้อยู่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัด
พีรพันธุ์ พาลุสุข
คณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย
พรรคยืนยันจุดเดิมว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องหารือเพื่อแก้ไขรัฐ ธรรมนูญปี"40 เท่านั้น และถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
แต่ถ้าเสนอแก้เพียง 2 ประเด็น ขอให้ยุติการพูดทันที เราปิดประตูไม่พูดคุยด้วยตราบใดที่ทั้ง 3 พรรคยังอยู่กับประชาธิปัตย์
3 พรรคหารือกันเพื่อหวังกดดันพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่มีผล เสียงในสภารวมกันมีไม่มากพอ หากพรรคร่วมต้องการให้เราช่วยเสนอร่างแก้ไขฯ หวังจะใช้เสียงพรรคเพื่อไทยสนับสนุน ให้เลิกคิดได้ เรารู้ทันว่าหากลงชื่อไปแล้ว เมื่อร่างเข้าสภาจะกลายเป็นว่าแก้ไขแค่ 2 ประเด็น
ดังนั้นไม่หลวมตัวไปร่วมด้วยแน่
ปัญญา ศรีปัญญา
วิปรัฐบาลพรรคภูมิใจไทย
มติพรรคจะเดินหน้าแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ เรายืนยันมาตลอดเช่นเดิม ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินและชาติไทยพัฒนาประกาศร่วมกับพรรคเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ระดับผู้ใหญ่พูดคุยกัน ต้องคุยกับประชา ธิปัตย์ด้วย แนวโน้มก็เห็นพ้องต้องกันหมดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
นายกฯยืนยันจะแก้ไขใน 2 ประ เด็นที่พูดถึง ประชาธิปัตย์น่าจะตกลงในแนวทางเดียวกัน การที่พรรคร่วมจับมือกันผลักดันให้แก้ ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้โดดเดี่ยวประชาธิปัตย์ ไม่มีใครโดดเดี่ยวใคร ถึงเวลาที่มีการแก้ไขน่าจะเป็นแนวทางเดียวกันในการโหวตในสภา
วิปรัฐบาลจะประชุมหารือในรายละเอียดเรื่องแก้ไขรัฐ ธรรมนูญอีกครั้ง ก่อนเปิดสมัยประชุมในวันที่ 21 ม.ค. เรื่องนี้จะชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นปัญหาในพรรคร่วม
ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
พรรคร่วมประกาศแก้รัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น เป็นผลพวงจากข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 6 ข้อ หากทำอะไรได้ก็แก้ไปก่อน
ข้อเสนอใน 2 มาตรานั้น มาตรา 190 ขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อนทำสัญญาระหว่างประเทศ กับการกำหนดเขตเลือกตั้ง ต้องการใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียวหรือวันแมนวันโหวตแทนการเรียงเบอร์ อาจเป็นประชาธิปไตยได้หากแพ้ชนะกันแค่ 2-3 คะแนน
ผมมองว่าแบบไหนก็เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องมองที่วัตถุประสงค์ว่าเป็นอย่างไร ในเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่จะได้คนที่หลากหลาย ส่วนเขตเล็กจะได้แบบเดียว
การที่พรรคร่วมขอแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ถือเป็นสิทธิ์โดยขอสู้ในรัฐสภา แต่เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องยุบสภาหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่านายกฯจะยุบสภาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยประกาศไว้แล้ว หากพร้อมก็จะยุบสภา หมายถึงต้องพร้อมที่จะแก้ไข 6 มาตราด้วยหรือเปล่า
พรรคร่วมประกาศจุดยืนครั้งนี้ เป็นเหตุผลที่สามารถทำ ได้ หากแก้เสร็จแล้วยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยจะได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ตรงนี้แล้วแต่ว่าพรรค ประชาธิปัตย์เลือกที่จะอยู่โดดเดี่ยวหรือไม่
ประสิทธิ์ โพธสุธน
ส.ว.สุพรรณบุรี
การยื่นแก้ไขของพรรคร่วมใน 2 ประเด็น เราคงไม่ไปร่วมด้วยเพราะเป็นไปไม่ได้ ดูจากเสียง 2 พรรคคือ ชาติไทยพัฒนาและเพื่อแผ่นดินที่เป็นตัวตั้ง มีไม่ถึง 100 เสียง เสียงที่จะผ่านสภาได้ต้องมี 310 เสียงขึ้นไปถึงจะดำเนินการได้
พรรคร่วมจะดึงพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นร่วมด้วยนั้น ไม่ทราบ แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงการต่อรองทางการเมืองที่ไม่มีอะไรมากมาย ต้องเข้าใจว่ารัฐ บาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ออกมาให้ข่าวแต่ละวันในเรื่องนี้ไปคนละอย่าง
เจตนาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของส.ว. จะยื่นแก้ ไข 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอเท่า นั้น เพราะถือว่าได้คัดกรองและทำเพื่อความสมานฉันท์โดยแท้จริง
วันเปิดประชุมสภาจะมีความชัดเจนและมีทางออกเรื่องนี้อย่างอัตโนมัติ