บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

'วรเจตน์' วิพากษ์กฎหมาย ปปช. : มุ่งพิฆาต ไม่คำนึงสิทธ์ เตือนนายกฯไม่ฟัง ก.ตร.อาจถูกฟ้อง

ที่มา Thai E-News

ที่มา เวบไซต์ มติชนออนไลน์
24 มกราคม 2553

กรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีมติยกโทษให้ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภารดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พ้นผิดกรณีม็อบสีเหลืองปะทะม็อบสีแดงที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ และให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พ้นผิดจากกรณีสลายการชุมนุมของม็อบเสื้อเหลือง ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551

หลังจาก "3นายพลสีกากี" ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูล "ผิดวินัยร้ายแรง" จนถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) มีคำสั่งปลดออกจากราชการ

ก.ตร.มีมติสำทับล่าสุดเมื่อวันที่ วันที่ 15 มกราคม ให้ "อุทธรณ์ฟังขึ้น" และข้อขัดแย้งด้านกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำเข้าคณะรัฐมนตรี ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่จนวันนี้ ต่างฝ่ายต่างงัดคำตีความกฎหมายจากหลายสถาบัน อาทิ คณะกรรมการกฤษีกา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มาโต้แย้งกัน

ตลอดกว่าสัปดาห์ที่ผ่าน เรื่องนี้ยังดูห่างไกลข้อยุติ ขณะที่นัยยะหลักของ "นายกฯอภิสิทธิ์" สื่อไปในทางที่ว่า ก.ตร.ไม่มีสิทธิ์ อุทธรณ์ กลับคำลงโทษหนักของ ป.ป.ช. โดยเด็ดขาด?!

"มติชน" สัมภาษณ์พิเศษ "ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เห็น มุมมองทางกฎหมายที่น่าสนใจ


ดร.วรเจตน์ เปิดฉากว่า เรื่องนี้ดำเนินไปตาม พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ประเด็น คือว่า คนที่ถูกลงโทษทางวินัย โดยปกติก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามมาตรา 96 ของกฎหมายป.ป.ช. "ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ"

ซึ่งมาตรานี้ เป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน เพราะว่ากฎหมายป.ป.ช.ไปเชื่อมกับตัวกฎหมายของข้าราชการแต่ละหน่วยว่า เมื่อเขาถูกลงโทษตามสำนวนของ ป.ป.ช.คนที่ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ ตามกฎหมายของเขา กรณีนี้เป็นตำรวจก็อุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ปัญหา คือ ก.ตร.สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงฐานความผิด หรือไม่เห็นด้วย กับการชี้มูลของ ป.ป.ช. หรือจะเห็นว่าสิ่งที่ป.ป.ช.ดำเนินการสอบมา ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีปัญหา เถียงกันมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถูกชี้มูลว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรง จนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีลงโทษไล่ออก จึงไปอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่ง ก.พ.เห็นว่า บกพร่องเล็กน้อย เป็นวินัยไม่ร้ายแรง จึงเปลี่ยนจากโทษไล่ออกเป็นภาคทัณฑ์

ครั้งนั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ก.พ.ทำไม่ถูก มาล่วงอำนาจ ป.ป.ช.ไปเปลี่ยนโทษความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้ ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ออกมาว่า ม.96 ของพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 บอกว่า ให้อุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ เท่ากับว่า องค์กรที่พิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจในการพิจารณาการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา ในฐานความผิดเดิมที่ ป.ป.ช.มีมติเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ไปกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ เปลี่ยนฐานความผิดที่กำหนดโทษใหม่ได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ก.พ.ในฐานะองค์กรที่พิจารณาอุทธรณ์ ต้องผูกพันตามสำนวนของ ป.ป.ช ซึ่งหากเทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้กับ ก.ตร.แล้ว ผลจะเป็นว่า ก.ตร.จะไปเปลี่ยนแปลงฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไม่ได้

"แต่มาวันนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกไปแล้ว แต่ยังเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งครั้งนั้นก็มีการถกเถียงกันในวงการนิติศาสตร์ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้"

มาดูกันที่ บทบัญญัติ ม. 96 จากถ้อยคำและเจตนาของคนร่างกฎหมายนี้ เป็นไปได้ที่ผู้ร่าง ไม่ต้องการให้อุทธรณ์ฐานความผิด อุทธรณ์ข้อเท็จจริงก็อุทธรณ์ได้ เพียงดุลพินิจการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา มันเป็นไปได้ที่มองแบบนี้ เพราะว่า คนเขียนอาจจะบอกว่า เขาต้องการให้เป็นแบบนี้ เพื่อว่าคนถูกลงโทษจะไม่ได้ไปวิ่งเต้นกับหน่วยงานของตน เลยบังคับให้ผูกพันตามสำนวนของ ปป.ช.ไป แต่ผมมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง

คือ เรื่องนี้ ถ้ามองจากตัวระบบกฎหมาย และมองที่วัตถุประสงค์ของการที่จะให้มีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ เราจะพบว่า การตีความตาม ม. 96 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ได้ตีความไว้ และความเห็นของนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เห็นไปทางนั้น เราจะเห็นว่า มันทำให้กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ไร้ความหมาย !!

ยกตัวอย่างกรณี ก.ตร. เห็นภาพชัดว่า 3 นายพล ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษปลดออก การอุทธรณ์ขึ้นไป ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะเท่ากับว่า เมื่ออุทธรณ์ไป ก.ตร.ก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องผูกพันตามเดิม คือ ทำได้แค่ลงโทษปลดออกตามเดิม หรือ ลงโทษเขาหนักกว่าเดิม คือไล่ออก ซึ่งมันไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการมีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์บรรลุผลในทางกฎหมาย

"ผมมองว่า การตีความกฎหมาย ต้องตีความในแง่ของการทำให้ตัววัตถุประสงค์ของกระบวนพิจารณาอุทธรณ์บรรลุผล ไม่ใช่ตีความในการทำลายวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ นี่เป็นความเห็นผม"

ตามมาตรา 96 ที่เขียนว่า ใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งอยู่ที่การตีความ ดังนั้นจะตีความไปที่เจตนาของคนทำกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจากระบบกฎหมายด้วย หากตีความแบบที่ว่ากัน มันทำลายวัตถุประสงค์ของตัวกฎหมาย ทำให้การอุทธรณ์ไม่มีความหมาย แล้วจะไปเรียกร้องให้เขาอุทธรณ์ทำไม ในเมื่ออุทธรณ์ไปแล้วคนที่พิจารณาอุทธรณ์ทำอะไรไม่ได้

ฉะนั้นต้องตีความว่า คณะกรรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจอุทธรณ์ตามกฎหมายเฉพาะ โดยพิจารณาคำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามสำนวนของ ป.ป.ช. ซึ่งเท่ากับว่า อำนาจของ ป.ป.ช.ผูกพันถึงผู้บังคับบัญชาเท่านั้น แต่ไม่ผูกพันถึงคณะกรรมการอุทธรณ์

**** อำนาจของป.ป.ช.จบลงแล้ว เพราะถือว่า ได้สั่งให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษแล้ว และมีการลงโทษปลดออก

ดร.วรเจตน์ ย้ำว่า ใช่ อำนาจของ ป.ป.ช.จบลง เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษไปแล้ว ตามมาตรา 93 สั่งลงโทษตามคำสั่ง ป.ป.ช.ไปแล้วจบลงเท่านี้ ที่เหลือเป็นสิทธิ์ของข้าราชการที่จะอุทธรณ์ ซึ่งในการตีความ ม. 96 ต้องตีความให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในเรื่องของสิทธิของบุคคล คือ การตีความในแง่ที่ไปบีบดุลยพินิจของการพิจารณาอุทธรณ์ มันเป็นการตีความแบบจำกัดสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการทบทวนในทางปกครอง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตีความแบบนี้

"จะบอกว่าสำนวนของ ป.ป.ช.นั้นเด็ดขาด และประสบความสำเร็จแล้วเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ แต่ตอนนี้ มันเป็นชั้นอุทธรณ์แล้ว ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะดำเนินการตามกฎหมายตำรวจ และ ก.ตร.เห็นว่า สำนวนการสอบสวนที่ ป.ป.ช.ทำมาผิด จะไปให้ ก.ตร. ยืนตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษได้อย่างไร"

อำนาจ ป.ป.ช.จบลงแล้ว เมื่อผู้บังคับบัญชา (นายกรัฐมนตรี) สั่งลงโทษ ในทางกลับกัน คนที่เป็นกรรมการอุทธรณ์อาจตั้งคำถามได้ว่า "ถ้าไม่ให้มาดูข้อเท็จจริง แล้วจะให้อุทธรณ์มาทำไม อุทธรณ์มาแล้ว บอกว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ต้องทำตามสำนวนของ ป.ป.ช. ทั้งที่เห็นว่าไม่มีความผิด"

"อย่างผมเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช.ทำผิดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด รับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ถามว่าจะบังคับดุลพินิจของ ก.ตร.ได้หรือว่า ต้องไปผูกพันตามข้อเท็จจริงที่มันผิดๆ ของ ป.ป.ช ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง เท่ากับว่าไปบังคับให้เขาใช้ดุลพินิจที่ผิด เพราะว่าข้อเท็จจริงมันไม่ใช่"

ดร.วรเจตน์ตั้งคำถามว่า ถ้าจะบอกว่า เขาไม่มีสิทธิไปดูข้อเท็จจริง ไม่มีสิทธิ์ดูข้อกฎหมาย ดูได้แต่อัตราโทษได้อย่างเดียว กรณีอย่างนี้ จะดูอะไรได้ในเมื่อโทษมันมีแค่ปลดออกกับไล่ออก อย่างนี้ก็ไม่ต้องอุทธรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญของ ป.ป.ช.เลย เพราะกรณีนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้ใช้อำนาจใดตามรัฐธรรมนูญ บทบาทของ ป.ป.ช.ในกรณีนี้ เปรียบเสมือนคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยเท่านั้นเอง กฎหมายถือว่า สำนวน ป.ป.ช.คือสำนวนการสอบสวนทางวินัยของหน่วยงาน เพียงแต่ชี้ว่า เมื่อผลออกมาบังคับผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มาเท่านั้น

มีการตั้งคำถามเท่ากับว่าให้คณะกรรมการอุทธรณ์ มารีวิวสำนวน ป.ป.ช.ได้ ซึ่งทำได้เพราะกฎหมายออกแบบให้ ป.ป.ช.เป็นคนสอบในชั้นต้น ดังนั้นเมื่ออุทธรณ์ โดยระบบปกติ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ต้องลงมาดู กรณีฟ้องศาลปกครองศาล ก็ต้องลงมาดูข้อเท็จจริงทั้งหมดเหมือนกัน

**** มีการตีความว่ากฎหมาย ป.ป.ช.มีศักดิ์ เหนือกว่า กฎหมายตำรวจ

ดร.วรเจตน์- มีศักดิ์เหนือกว่าแล้วมันยังไง? ศักดิ์เหนือกว่า แต่กฎหมายของคุณจบลงแล้วตั้งแต่บังคับผู้บังคับบัญชาให้ทำตาม จบไปตามนั้น ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.แล้ว ม.96 ที่ว่า ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ดุลพินิจมันก็ขึ้นอยู่กับการตีความ ซึ่ง ก.ตร.ตีความว่า กรณีแบบนี้เท่ากับ ก.ตร.ดูข้อเท็จจริงได้ มันเป็นการตีความตาม ม.96 ประกอบกับกฎหมายของตำรวจ หากกฎหมายของหน่วยงานเขายังใช้ได้อยู่ มันเป็นไปไม่ได้ที่สำนวน ป.ป.ช.จะไปมัดดุลพินิจของคณะกรรมการอุทธรณ์

"เขาอึดอัดตาย ถ้าเขาต้องพิจารณาลงโทษตามข้อเท็จจริงที่เขาก็รู้ว่ามันผิด มันจะเป็นไปได้อย่างไร"

"ผมว่า เจตนารมณ์ของตัวกฎหมาย มันออกแบบประหลาดอยู่ ฉะนั้นการตีความต้องรับกับระบบ แต่นักกฎหมายหรือศาลไปตีความว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรตาม รธน. แต่ไม่ได้ดูว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นองค์กรตาม รธน. แต่เป็นเรื่องที่เขาใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ได้เป็นเครื่องประกันด้วยว่า ที่ ป.ป.ช.ชี้มามันถูก"

ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อนายกฯ บอกว่า ต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระ ไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลปกครอง เรื่องนี้ลืมไปประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่เห็นว่า ใครไม่เห็นด้วยให้ไปฟ้องศาล แต่ว่ากลไกเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการ มันมีในระบบต้องตีความให้มันใช้ได้โดยสมบูรณ์ ไม่อย่างงั้น ถ้า ป.ป.ช.ชี้ความผิดมัดทั้งผู้บัญชาการ มัดทั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ จะเป็นไปได้อย่างไรในทางระบบ แล้วจะมีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ทำไม เพื่ออะไร หากอุทธรณ์ไปทำได้เพียงปลดออก หรือไล่ออก

**** เหมือนป.ป.ช.ไม่ศักด์สิทธิแล้วเจตนารมณ์ของคนเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันการวิ่งเต้นในหน่วยงานต้นสังกัด

ดร.วรเจตน์ ย้อนว่า แล้ววิ่งเต้นที่ ป.ป.ช.ไม่ได้ตั้งแต่แรกหรืออย่างไร หากวิ่งตั้งแต่ ป.ป.ช. เรื่องที่ผิดอาจจะไม่ถูกชี้มูลตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป ตอนนี้กลายเป็นว่า ต้องไปไว้ใจองค์กรอิสระ แล้วคนที่เป็น ก.ตร. ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิข้างนอกเข้ามาร่วมไม่ด้อยกว่า ป.ป.ช.

"ตอนนี้เป็นการวัดศักดิ์ศรีกันแล้ว ผมว่าต่อไปข้างหน้าจะมีปัญหานี้อีก หาก ป.ป.ช.ทำสำนวนมาแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อ่านแล้วไม่เห็นด้วย เพราะรับไม่ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกต่อไปต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน"

ในความเห็นของ ดร.วรเจตน์ บอกว่า คำสั่ง ก.ตร.ที่ว่า อุทธรณ์ฟังขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำตามที่ ก.ตร.มีมติ โดย ก.ตร.เอง จะเป็นผู้รับผิดชอบกับมติที่ให้อุทธรณ์ฟังขึ้นจากการตีความกฎหมาย จึงต้องไปดูความเห็นในการตีความ เมื่อ ก.ตร.มีมติแล้วต้องทำตาม นายกฯในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องผูกพันตามมติ ก.ตร.ด้วยเช่นกัน

**** เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเป็นคนกล่าวโทษกรณี 7 ตุลากับพล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ

ดร.วรเจตน์ บอกว่า นี่ก็เป็นปัญหายุ่งอีก กลายเป็นเรื่องมีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตามเมื่อ ก.ตร.มีมติแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม หรือว่านายกฯจะฝืนมติ เพราะมติ ก.ตร.ถือว่า สมบูรณ์ตามกฎหมายตำรวจ ถ้ามีใครอ้างว่ามติ ก.ตร.ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องหาสิทธิ์ไปฟ้องคดีเอง ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องไปหาช่องฟ้องเอง เพราะ ก.ตร.ตีความอำนาจ

"ถ้าผมเป็น ก.ตร.ผมก็ตีความอำนาจอย่างนี้ และผมเห็นอย่างนี้โดยบริสุทธิ์ เพราะผมอ่าน ม. 96 แล้ว ดูจากระบบกฎหมายแล้ว ดูจากวัตถุประสงค์ของการมีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ดูจากสำนวน ป.ป.ช.แล้ว ผมตีความว่า ผมมีอำนาจในการพิจารณา เพราะผมใช้กฎหมายตำรวจ "

ตอนนี้ต้องดูนายกรัฐมนตรี กับ รรท.ผบ.ตร. ถ้าไม่ทำตามเขา อาจจะถูกฟ้อง หากไม่รับกลับเข้ารับราชการ 3 นายพล อาจฟ้องศาลอาญาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามมติ ก.ตร. นายกฯต้องคุยกับ ก.ตร.ว่าจะเอาอย่างไร

"แต่ผมว่า คงคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะตั้ง ผบ.ตร.ยังตั้งไม่ได้เลย หาก ก.ตร.จะกลับมติ ผมเห็นว่านี้เป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ และไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย"

พลังของกฎหมาย ป.ป.ช. มันจบตั้งแต่มีผลให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัย เคยมีบางยุคตีความว่า กฎหมาย ป.ป.ช. ผูกพันไปถึงศาลด้วย ป.ป.ช.จึงกลายเป็นองค์กรที่ชี้ตูมเดียว ผูกพันกับชาวบ้านทั้งหมด แล้วทำไมเราไม่คิดในทางกลับกันว่า หาก ป.ป.ช.ชี้ผิด แล้วโทษเป็นเพียงวินัยไม่ร้ายแรง แล้วจะทำอย่างไร จะบังคับให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถือตาม ป.ป.ช.ได้อย่างไร ถ้ากฎหมายมันไม่ชัด

ดร.วรเจตน์ บอกว่า เรื่องนี้มาอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องกฎหมายขัดกัน แต่เป็นเรื่องที่เขาใช้กฎหมายของเขา ซึ่งกฎหมายของ ป.ป.ช.ได้ใช้แล้วในการสั่งปลดออกต้องพอใจเท่านั้น จะไปคอยตามดูให้กลายเป็นสำนวนของข้าพเจ้าใครจะแก้ไม่ได้ ถามว่า เราจะให้อำนาจ ป.ป.ช.แบบนั้นหรือ

"ป.ป.ช.วิ่งไม่ได้หรือไง หรือจะบอกว่าเป็นอรหันต์กันหมด เป็นไปไม่ได้หรอก ผมไม่เชื่อหรอก มันต้องว่ากันตามระบบ"

ดร.วรเจตน์ ย้ำอีกว่า ก.ตร.มีอำนาจ ป.ป.ช.บังคับให้เขาทำตามสำนวนคุณไม่ได้ สมมุติสำนวนทำมาไม่ได้เรื่อง จะไปผูกพันได้อย่างไร เหมือนกรณี "โอ๋ สืบ 6" ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จากนั้นจึงไปฟ้องศาลปกครอง แล้วศาลพิจารณาว่า ป.ป.ช.ไม่ฟังข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน จน ป.ป.ช.ถูกฟ้องกลับคดีอาญา

"กฎหมาย ป.ป.ช.คิดขึ้นมา มุ่งจะปราบอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสิทธิ์ของคนอื่นเขา มันไม่ได้ เรื่องอำนาจพวกนี้ อย่าปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ต้องแก้กฎหมายเลย แล้วพูดให้ชัด คุยให้ชัด ทำกฎหมาย อย่าคิดว่า วิ่งกับองค์กรอื่น คือทุกคนถูกวิ่งได้หมด ถ้ามันจะวิ่ง แล้วมันต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบเป็นตัวตั้ง กฎหมาย ป.ป.ช.มุ่งจะจัดการกับราชการ จนเขียนกฎหมายผิดระบบไปหมด ดูอย่าง ม.96 เขียนมาได้ "ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ" เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะคำว่า มีคำสั่งลงโทษ หมายถึงวันที่เซ็นคำสั่ง แล้วคำสั่งยังไม่ถึงคนรับคำสั่งเลย ผมว่า ม.96 นี้ มันเขียนไม่ดี เขียนโดยทัศนคติต่อข้าราชการในทางลบกันมาก "

"มาตรา 96 นี้ เขียนไม่ได้ความเลย เขียนแบบจ้องเล่นงานข้าราชการเป็นหลัก เขียนจนหลุด ผมเห็นว่า ระบบต้องสำคัญกว่า การตีความต้องรักษาระบบไว้ ไม่ใช่เรื่องหลักการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระ นายกฯท่านเข้าใจผิดแล้วเรื่องนี้ "

นายกฯ ต้องเห็นว่า บทบาทตัวเองขัดแย้งกัน เพราะตัวเองไปกล่าวหาเขาต่อ ป.ป.ช.ตั้งแต่แรก จริงๆ ต้องมอบเรื่องนี้ให้คนอื่นทำ เอาเรื่องเข้า ครม.แล้วให้รองนายกฯคนอื่นสั่งลงโทษตั้งแต่แรก เพราะตัวเองเกี่ยวพันในทางส่วนตัวในฐานะคนร้อง

"เรื่องนี้จะเห็นว่า การเป็นฝักฝ่ายการเมือง ส่งผลรุนแรงอย่างไรกับระบบกฎหมาย มันกลายเป็นว่า ตอนนี้ใครมีอำนาจก็จะชี้อย่างไรก็ได้อย่างที่ตัวเองอยาก มันเป็นอย่างนั้นไปหมด" ดร.วรเจตน์กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker