บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

"วรเจตน์"วิพากษ์กฎหมาย ป.ป.ช. มุ่งพิฆาตไม่คำนึงถึงสิทธิ์จนระบบรวน เตือนนายกฯไม่ฟังมติก.ตร.อาจถูกฟ้อง

ที่มา มติชน

กรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีมติยกโทษให้ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภารดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พ้นผิดกรณีม็อบสีเหลืองปะทะม็อบสีแดงที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ และให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พ้นผิดจากกรณีสลายการชุมนุมของม็อบเสื้อเหลือง ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551

หลังจาก "3นายพลสีกากี" ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูล "ผิดวินัยร้ายแรง" จนถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) มีคำสั่งปลดออกจากราชการ

ก.ตร.มีมติสำทับล่าสุดเมื่อวันที่ วันที่ 15 มกราคม ให้ "อุทธรณ์ฟังขึ้น" และข้อขัดแย้งด้านกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำเข้าคณะรัฐมนตรี ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่จนวันนี้ต่างฝ่ายต่างงัดคำตีความกฎหมายจากหลายสถาบัน อาทิ คณะกรรมการกฤษีกา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มาโต้แย้งกัน

ตลอดกว่าสัปดาห์ที่ผ่านเรื่องนี้ยังดูห่างไกลข้อยุติ ขณะที่นัยยะหลักของ "นายกฯอภิสิทธิ์" สื่อไปในทางที่ว่า ก.ตร.ไม่มีสิทธิ์ อุทธรณ์ กลับคำลงโทษหนักของ ป.ป.ช. โดยเด็ดขาด?!

"มติชน" สัมภาษณ์พิเศษ "ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เห็น มุมมองทางกฎหมายที่น่าสนใจ


ดร.วรเจตน์ เปิดฉากว่า เรื่องนี้ดำเนินไปตาม พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542


ประเด็น คือว่า คนที่ถูกลงโทษทางวินัย โดยปกติก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามมาตรา 96 ของกฎหมายป.ป.ช. "ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ" ซึ่งมาตรานี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน เพราะว่ากฎหมายป.ป.ช.ไปเชื่อมกับตัวกฎหมายของข้าราชการแต่ละหน่วยว่าเมื่อเขาถูกลงโทษตามสำนวนของป.ป.ช.คนที่ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ ตามกฎหมายของเขา กรณีนี้เป็นตำรวจก็อุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ปัญหา คือ ก.ตร.สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงฐานความผิด หรือไม่เห็นด้วยกับการชี้มูลของ ป.ป.ช.หรือจะเห็นว่าสิ่งที่ป.ป.ช.ดำเนินการสอบมาไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีปัญหา เถียงกันมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถูกชี้มูลว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง จนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีลงโทษไล่ออก จึงไปอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่ง ก.พ.เห็นว่า บกพร่องเล็กน้อย เป็นวินัยไม่ร้ายแรงจึงเปลี่ยนจากโทษไล่ออกเป็นภาคทัณฑ์ ครั้งนั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ก.พ.ทำไม่ถูก มาล่วงอำนาจป.ป.ช.ไปเปลี่ยนโทษความผิดที่ป.ป.ช.ชี้ ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ออกมาว่า ม.96 ของพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 บอกว่า ให้อุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ เท่ากับว่าองค์กรที่พิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจในการพิจารณาการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา ในฐานความผิดเดิมที่ป.ป.ช.มีมติเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ไปกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช.โดยวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ เปลี่ยนฐานความผิดที่กำหนดโทษใหม่ได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ก.พ.ในฐานะองค์กรที่พิจารณาอุทธรณ์ต้องผูกพันตามสำนวนของ ป.ป.ช ซึ่งหากเทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้กับก.ตร.แล้ว ผลจะเป็นว่าก.ตร.จะไปเปลี่ยนแปลงฐานความผิดที่ป.ป.ช.ชี้มูลไม่ได้

"แต่มาวันนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกไปแล้ว แต่ยังเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งครั้งนั้นก็มีการถกเถียงกันในวงการนิติศาสตร์ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้"

มาดูกันที่ บทบัญญัติ ม. 96 จากถ้อยคำและเจตนาของคนร่างกฎหมายนี้ เป็นไปได้ที่ผู้ร่างไม่ต้องการให้อุทธรณ์ฐานความผิด อุทธรณ์ข้อเท็จจริงก็อุทธรณ์ได้เพียงดุลพินิจการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา มันเป็นไปได้ที่มองแบบนี้ เพราะว่า คนเขียนอาจจะบอกว่าเขาต้องการให้เป็นแบบนี้เพื่อว่าคนถูกลงโทษจะไม่ได้ไปวิ่งเต้นกับหน่วยงานของตน เลยบังคับให้ผูกพันตามสำนวนของ ปป.ช.ไป แต่ผมมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง

คือ เรื่องนี้ถ้ามองจากตัวระบบกฎหมายและมองที่วัตถุประสงค์ของการที่จะให้มีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ เราจะพบว่าการตีความตาม ม. 96 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ได้ตีความไว้และความเห็นของนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เห็นไปทางนั้น เราจะเห็นว่ามันทำให้กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ไร้ความหมาย !!

ยกตัวอย่างกรณี ก.ตร. เห็นภาพชัดว่า 3 นายพล ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษปลดออก การอุทธรณ์ขึ้นไปก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะเท่ากับว่าเมื่ออุทธรณ์ไป ก.ตร.ก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องผูกพันตามเดิม คือ ทำได้แค่ลงโทษปลดออกตามเดิม หรือ ลงโทษเขาหนักกว่าเดิมคือไล่ออก ซึ่งมันไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการมีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์บรรลุผลในทางกฎหมาย

"ผมมองว่าการตีความกฎหมายต้องตีความในแง่ของการทำให้ตัววัตถุประสงค์ของกระบวนพิจารณาอุทธรณ์บรรลุผล ไม่ใช่ตีความในการทำลายวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ นี่เป็นความเห็นผม"

ตามมาตรา 96 ที่เขียนว่า ใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งอยู่ที่การตีความ ดังนั้นจะตีความไปที่เจตนาของคนทำกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจากระบบกฎหมายด้วย หากตีความแบบที่ว่ากัน มันทำลายวัตถุประสงค์ของตัวกฎหมาย ทำให้การอุทธรณ์ไม่มีความหมาย แล้วจะไปเรียกร้องให้เขาอุทธรณ์ทำไม ในเมื่ออุทธรณ์ไปแล้วคนที่พิจารณาอุทธรณ์ทำอะไรไม่ได้


ฉะนั้นต้องตีความว่า คณะกรรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจอุทธรณ์ตามกฎหมายเฉพาะ โดยพิจารณาคำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามสำนวนของ ป.ป.ช. ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจของป.ป.ช.ผูกพันถึงผู้บังคับบัญชาเท่านั้น แต่ไม่ผูกพันถึงคณะกรรมการอุทธรณ์

@ อำนาจของป.ป.ช.จบลงแล้วเพราะถือว่าได้สั่งให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษแล้วและมีการลงโทษปลดออก


ดร.วรเจตน์ ย้ำว่า ใช่ อำนาจของป.ป.ช.จบลง เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษไปแล้ว ตามมาตรา 93 สั่งลงโทษตามคำสั่งป.ป.ช.ไปแล้วจบลงเท่านี้ ที่เหลือเป็นสิทธิ์ของข้าราชการที่จะอุทธรณ์ ซึ่งในการตีความ ม. 96 ต้องตีความให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในเรื่องของสิทธิของบุคคล คือ การตีความในแง่ที่ไปบีบดุลยพินิจของการพิจารณาอุทธรณ์มันเป็นการตีความแบบจำกัดสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการทบทวนในทางปกครอง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตีความแบบนี้


"จะบอกว่าสำนวนของป.ป.ช.นั้นเด็ดขาดและประสบความสำเร็จแล้วเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ แต่ตอนนี้มันเป็นชั้นอุทธรณ์แล้ว ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะดำเนินการตามกฎหมายตำรวจ และ ก.ตร.เห็นว่าสำนวนการสอบสวนที่ ป.ป.ช.ทำมาผิดจะไปให้ ก.ตร. ยืนตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษได้อย่างไร"

อำนาจ ป.ป.ช.จบลงแล้ว เมื่อผู้บังคับบัญชา(นายกรัฐมนตรี)สั่งลงโทษ ในทางกลับกันคนที่เป็นกรรมการอุทธรณ์อาจตั้งคำถามได้ว่า "ถ้าไม่ให้มาดูข้อเท็จจริง แล้วจะให้อุทธรณ์มาทำไม อุทธรณ์มาแล้วบอกว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ต้องทำตามสำนวนของป.ป.ช. ทั้งที่เห็นว่าไม่มีความผิด"

"อย่างผมเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าสำนวนของป.ป.ช.ทำผิดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด รับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ถามว่าจะบังคับดุลพินิจของก.ตร.ได้หรือว่าต้องไปผูกพันตามข้อเท็จจริงที่มันผิดๆของ ป.ป.ช ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง เท่ากับว่าไปบังคับให้เขาใช้ดุลพินิจที่ผิด เพราะว่าข้อเท็จจริงมันไม่ใช่"



ดร.วรเจตน์ตั้งคำถามว่า ถ้าจะบอกว่าเขาไม่มีสิทธิไปดูข้อเท็จจริง ไม่มีสิทธิ์ดูข้อกฎหมาย ดูได้แต่อัตราโทษได้อย่างเดียว กรณีอย่างนี้จะดูอะไรได้ในเมื่อโทษมันมีแค่ปลดออกกับไล่ออก อย่างนี้ก็ไม่ต้องอุทธรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญของป.ป.ช.เลย เพราะกรณีนี้ป.ป.ช.ไม่ได้ใช้อำนาจใดตามรัฐธรรมนูญ บทบาทของป.ป.ช.ในกรณีนี้เปรียบเสมือนคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยเท่านั้นเอง กฎหมายถือว่าสำนวนป.ป.ช.คือสำนวนการสอบสวนทางวินัยของหน่วยงาน เพียงแต่ชี้ว่าเมื่อผลออกมาบังคับผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ตามที่ป.ป.ช. ชี้มาเท่านั้น

มีการตั้งคำถามเท่ากับว่าให้คณะกรรมการอุทธรณ์ มารีวิวสำนวนป.ป.ช.ได้ ซึ่งทำได้เพราะกฎหมายออกแบบให้ ป.ป.ช.เป็นคนสอบในชั้นต้น ดังนั้นเมื่ออุทธรณ์ โดยระบบปกติ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ต้องลงมาดู กรณีฟ้องศาลปกครองศาลก็ต้องลงมาดูข้อเท็จจริงทั้งหมดเหมือนกัน

@มีการตีความว่ากฎหมายป.ป.ช.มีศักดิ์ เหนือกว่า กฎหมายตำรวจ


ดร.วรเจตน์- มีศักดิ์เหนือกว่าแล้วมันยังไง? ศักดิ์เหนือกว่าแต่กฎหมายของคุณจบลงแล้วตั้งแต่บังคับผู้บังคับบัญชาให้ทำตาม จบไปตามนั้น ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับป.ป.ช.แล้ว ม.96 ที่ว่าใช้สิทธิ์อุทธรณ์ดุลพินิจมันก็ขึ้นอยู่กับการตีความ ซึ่งก.ตร.ตีความว่ากรณีแบบนี้เท่ากับก.ตร.ดูข้อเท็จจริงได้ มันเป็นการตีความตาม ม.96 ประกอบกับกฎหมายของตำรวจ หากกฎหมายของหน่วยงานเขายังใช้ได้อยู่ มันเป็นไปไม่ได้ที่สำนวนป.ป.ช.จะไปมัดดุลพินิจของคณะกรรมการอุทธรณ์

"เขาอึดอัดตายถ้าเขาต้องพิจารณาลงโทษตามข้อเท็จจริงที่เขาก็รู้ว่ามันผิด มันจะเป็นไปได้อย่างไร"

"ผมว่าเจตนารมณ์ของตัวกฎหมาย มันออกแบบประหลาดอยู่ ฉะนั้นการตีความต้องรับกับระบบ แต่นักกฎหมายหรือศาลไปตีความว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรตาม รธน. แต่ไม่ได้ดูว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นองค์กรตาม รธน. แต่เป็นเรื่องที่เขาใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ได้เป็นเครื่องประกันด้วยว่าที่ป.ป.ช.ชี้มามันถูก "

ดร.วรเจนต์ กล่าวต่อว่า เมื่อนายกฯบอกว่าต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระ ไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลปกครอง เรื่องนี้ลืมไปประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่เห็นว่าใครไม่เห็นด้วยให้ไปฟ้องศาล แต่ว่ากลไกเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการ มันมีในระบบต้องตีความให้มันใช้ได้โดยสมบูรณ์ ไม่อย่างงั้นถ้าป.ป.ช.ชี้ความผิดมัดทั้งผู้บัญชาการมัดทั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ จะเป็นไปได้อย่างไรในทางระบบ แล้วจะมีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ทำไม เพื่ออะไร หากอุทธรณ์ไปทำได้เพียงปลดออก หรือไล่ออก

@ เหมือนป.ป.ช.ไม่ศักด์สิทธิแล้วเจตนารมณ์ของคนเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันการวิ่งเต้นในหน่วยงานต้นสังกัด

ดร.วรเจตน์ ย้อนว่า แล้ววิ่งเต้นที่ป.ป.ช.ไม่ได้ตั้งแต่แรกหรืออย่างไร หากวิ่งตั้งแต่ป.ป.ช. เรื่องที่ผิดอาจจะไม่ถูกชี้มูลตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องไปไว้ใจองค์กรอิสระ แล้วคนที่เป็น ก.ตร. ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิข้างนอกเข้ามาร่วมไม่ด้อยกว่า ป.ป.ช.


"ตอนนี้เป็นการวัดศักดิ์ศรีกันแล้ว ผมว่าต่อไปข้างหน้าจะมีปัญหานี้อีก หากป.ป.ช.ทำสำนวนมาแล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อ่านแล้วไม่เห็นด้วยเพราะรับไม่ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกต่อไปต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน"


ในความเห็นของดร.วรเจตน์ บอกว่า คำสั่งก.ตร.ที่ว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำตามที่ก.ตร.มีมติ โดย ก.ตร.เองจะเป็นผู้รับผิดชอบกับมติที่ให้อุทธรณ์ฟังขึ้นจากการตีความกฎหมายจึงต้องไปดูความเห็นในการตีความเมื่อ ก.ตร.มีมติแล้วต้องทำตาม นายกฯในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องผูกพันตามมติก.ตร.ด้วยเช่นกัน



@เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเป็นคนกล่าวโทษกรณี 7 ตุลากับพล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ


ดร.วรเจตน์ บอกว่า นี่ก็เป็นปัญหายุ่งอีก กลายเป็นเรื่องมีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตามเมื่อ ก.ตร.มีมติแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม หรือว่านายกฯจะฝืนมติเพราะมติก.ตร.ถือว่าสมบูรณ์ตามกฎหมายตำรวจ ถ้ามีใครอ้างว่ามติก.ตร.ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องหาสิทธิ์ไปฟ้องคดีเอง ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องไปหาช่องฟ้องเอง เพราะก.ตร.ตีความอำนาจ

"ถ้าผมเป็นก.ตร.ผมก็ตีความอำนาจอย่างนี้ และผมเห็นอย่างนี้โดยบริสุทธิ์ เพราะผมอ่านม. 96 แล้ว ดูจากระบบกฎหมายแล้วดูจากวัตถุประสงค์ของการมีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ดูจากสำนวนป.ป.ช.แล้ว ผมตีความว่าผมมีอำนาจในการพิจารณา เพราะผมใช้กฎหมายตำรวจ "

ตอนนี้ต้องดูนายกรัฐมนตรี กับรรท.ผบ.ตร. ถ้าไม่ทำตามเขาอาจจะถูกฟ้อง หากไม่รับกลับเข้ารับราชการ 3 นายพลอาจฟ้องศาลอาญาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามมติก.ตร. นายกฯต้องคุยกับก.ตร.ว่าจะเอาอย่างไร

"แต่ผมว่าคงคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะตั้งผบ.ตร.ยังตั้งไม่ได้เลย หากก.ตร.จะกลับมติผมเห็นว่านี้เป็นอำนาจตามพ.ร.บ.ตำรวจฯ และไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย"

พลังของกฎหมายป.ป.ช.มันจบตั้งแต่มีผลให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัย เคยมีบางยุคตีความว่ากฎหมายป.ป.ช. ผูกพันไปถึงศาลด้วย ป.ป.ช.จึงกลายเป็นองค์กรที่ชี้ตูมเดียวผูกพันกับชาวบ้านทั้งหมด แล้วทำไมเราไม่คิดในทางกลับกันว่าหาก ป.ป.ช.ชี้ผิด แล้วโทษเป็นเพียงวินัยไม่ร้ายแรง แล้วจะทำอย่างไร จะบังคับให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถือตามป.ป.ช.ได้อย่างไรถ้ากฎหมายมันไม่ชัด

ดร.วรเจตน์ บอกว่า เรื่องนี้มาอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องกฎหมายขัดกัน แต่เป็นเรื่องที่เขาใช้กฎหมายของเขา ซึ่งกฎหมายของ ป.ป.ช.ได้ใช้แล้วในการสั่งปลดออกต้องพอใจเท่านั้น จะไปคอยตามดูให้กลายเป็นสำนวนของข้าพเจ้าใครจะแก้ไม่ได้ ถามว่าเราจะให้อำนาจป.ป.ช.แบบนั้นหรือ

"ป.ป.ช.วิ่งไม่ได้หรือไง หรือจะบอกว่าเป็นอรหันต์กันหมด เป็นไปไม่ได้หรอก ผมไม่เชื่อหรอก มันต้องว่ากันตามระบบ"



ดร.วรเจตน์ ย้ำอีกว่า ก.ตร.มีอำนาจ ป.ป.ช.บังคับให้เขาทำตามสำนวนคุณไม่ได้ สมมุติสำนวนทำมาไม่ได้เรื่องจะไปผูกพันได้อย่างไร เหมือนกรณี"โอ๋ สืบ 6" ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จากนั้นจึงไปฟ้องศาลปกครองแล้วศาลพิจารณาว่าป.ป.ช.ไม่ฟังข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน จนป.ป.ช.ถูกฟ้องกลับคดีอาญา


"กฎหมายป.ป.ช.คิดขึ้นมามุ่งจะปราบอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสิทธิ์ของคนอื่นเขา มันไม่ได้ เรื่องอำนาจพวกนี้ อย่าปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ต้องแก้กฎหมายเลยแล้วพูดให้ชัด คุยให้ชัด ทำกฎหมายอย่าคิดว่าวิ่งกับองค์กรอื่น คือทุกคนถูกวิ่งได้หมดถ้ามันจะวิ่ง แล้วมันต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบเป็นตัวตั้ง กฎหมายป.ป.ช.มุ่งจะจัดการกับราชการ จนเขียนกฎหมายผิดระบบไปหมด ดูอย่าง ม.96 เขียนมาได้ "ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ" เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะคำว่ามีคำสั่งลงโทษหมายถึงวันที่เซ็นคำสั่ง แล้วคำสั่งยังไม่ถึงคนรับคำสั่งเลย ผมว่าม.96 นี้มันเขียนไม่ดี เขียนโดยทัศนคติต่อข้าราชการในทางลบกันมาก "


"มาตรา 96 นี้ เขียนไม่ได้ความเลย เขียนแบบจ้องเล่นงานข้าราชการเป็นหลัก เขียนจนหลุด ผมเห็นว่าระบบต้องสำคัญกว่า การตีความต้องรักษาระบบไว้ ไม่ใช่เรื่องหลักการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระ นายกฯท่านเข้าใจผิดแล้วเรื่องนี้ "

นายกฯ ต้องเห็นว่าบทบาทตัวเองขัดแย้งกัน เพราะตัวเองไปกล่าวหาเขาต่อป.ป.ช.ตั้งแต่แรก จริงๆต้องมอบเรื่องนี้ให้คนอื่นทำ เอาเรื่องเข้าครม.แล้วให้รองนายกฯคนอื่นสั่งลงโทษตั้งแต่แรก เพราะตัวเองเกี่ยวพันในทางส่วนตัวในฐานะคนร้อง


"เรื่องนี้จะเห็นว่าการเป็นฝักฝ่ายการเมืองส่งผลรุนแรงอย่างไรกับระบบกฎหมาย มันกลายเป็นว่าตอนนี้ใครมีอำนาจก็จะชี้อย่างไรก็ได้อย่างที่ตัวเองอยาก มันเป็นอย่างนั้นไปหมด" ดร.วรเจตน์กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker