กรณีเขายายเที่ยง : สะท้อนระบบยุติธรรมที่พิกลพิการ
ที่มา www.ids-th.org/index.php
"ถ้าใครศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องบ้างแล้วก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าที่อัยการวินิจฉัยว่าการครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนของพล.อ.สุรยุทธ์เป็นการกระทำผิดโดยไม่เจตนานั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากพล.อ.สุรยุทธ์ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยประสงค์ต่อผลอย่างชัดเจน ส่วนถ้าจะอ้างว่าไม่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ไม่อาจอ้างได้ เพราะแม้แต่ตาสีตาสาก็ยังอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ นับประสาอะไรกับอดีตแม่ทัพภาคที่๒ซึ่งมีหน้าที่แก้ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนโดยตรงจะอ้างเช่นนั้นได้..." จาตุรนต์ ฉายแสง
กรณีเขายายเที่ยง : สะท้อนระบบยุติธรรมที่พิกลพิการ
จาตุรนต์ ฉายแสง
การที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตัดสินใจยังไม่คืนที่ดินที่เขายายเที่ยงจนกว่ากรมป่าไม้จะพิจารณาเสร็จ เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมาก ทั้งยังเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยเจตนาอย่างชัดแจ้งยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย
“ขอเรียนว่าจากการที่โฆษกสำนักอัยการสูงสุดได้ชี้แจงและได้รับทราบว่า คณะกรรมการกรมป่าไม้จะดำเนินการพิจารณาตามระยะเวลาที่กำหนด ตอบได้เพียงว่า ผมพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อกรมป่าไม้พิจารณาว่ามีคำชี้ขาดเป็นอย่างไร พร้อมปฏิบัติตามนั้น” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี (1)
ถ้าใครศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องบ้างแล้วก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าที่อัยการวินิจฉัยว่าการครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนของพล.อ.สุรยุทธ์เป็นการกระทำผิดโดยไม่เจตนานั้นฟังไม่ขึ้นเนื่องจากพล.อ.สุรยุทธ์ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยประสงค์ต่อผลอย่างชัดเจน ส่วนถ้าจะอ้างว่าไม่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ไม่อาจอ้างได้ เพราะแม้แต่ตาสีตาสาก็ยังอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ นับประสาอะไรกับอดีตแม่ทัพภาคที่๒ซึ่งมีหน้าที่แก้ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนโดยตรงจะอ้างเช่นนั้นได้
เมื่ออัยการวินิจฉัยว่า“ไม่เจตนา” (2) ซึ่งฟังไม่ขึ้นนั้น หากพิจาณาตามคำวินิจฉัยของอัยการก็อาจตั้งคำถามว่าไม่เจตนาทำอะไร ที่อัยการไม่ได้พูดให้ชัดเจนคงเป็นเพราะจะได้ฟังดูดีหน่อย แต่คำตอบก็คือไม่เจตนาทำผิดกฎหมายหรือทำผิดกฎหมายโดยไม่เจตนานั่นเอง (3) ถ้าถามว่าเหตุใดจึงเห็นว่าไม่เจตนา อัยการก็คงตอบว่า เพราะขณะที่ซื้อนั้นพล.อ.สุรุยทธ์คงไม่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายซึ่งก็ฟังไม่ขึ้นดังกล่าวแล้ว
คำถามง่ายๆจึงมีต่อไปว่า แล้ววันนี้พล.อ.สุรยุทธ์ รู้แล้วหรือยังว่าการกระทำของตนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย คำตอบก็คือย่อมต้องรู้แน่แล้ว หรือควรจะต้องเรียกว่ายิ่งรู้มากขึ้นกว่าเดิมแล้วว่าผิดกฎหมาย ถามต่อไปอีกว่าเมื่อรู้แล้วว่าครอบครองที่ดินอยู่โดยผิดกฎหมายแต่กลับไม่ยอมคืนที่ดินนั้นให้แก่ทางราชการ ยังจะถือว่าเป็นการกระทำผิดโดยไม่เจตนาอยู่อีกหรือไม่ คำตอบย่อมเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากต้องถือว่าเป็นการกระทำผิดโดยเจตนาอย่างสมบูรณ์ จะอ้างว่าไม่รู้อีกไม่ได้แล้ว
“ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ ทราบตั้งแต่ตอนซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาแล้วว่า อย่างไรก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ แต่ที่ซื้อมานั้น ก็เพื่อต้องการใช้สิทธิในการทำประโยชน์ในพื้นที่ … หากทางราชการมีความต้องการที่ดินแปลงนี้คืน พล.อ.สุรยุทธ์ ก็พร้อมที่จะคืนให้ทันที เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ มีความเคารพในกติกาของบ้านเมืองอยู่แล้ว” พล.อ.นินนาท เบี้ยวไข่มุข นายทหารคนสนิท พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ (4)
การที่กรมป่าไม้จะต้องใช้เวลาอีก ๖๐ วัน (5) (6) (7) จึงกลายเป็นเรื่องไร้เหตุผล กลายเป็นไม่มีใครรักษากฎหมายทั้งๆที่มีการกระทำผิดกฎหมายให้เห็นอยู่ทนโท่ การปล่อยให้เรื่องคาราคาซังอยู่อย่างพิลึกพิลั่นนี้ รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อการรักษากฎหมายบ้านเมือง ตอกย้ำความไม่ยุติธรรมหรือความเป็นสองมาตรฐานอย่างชัดเจนและยังทำให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของพล.อ.สุรยุทธ์เองที่นอกจากไม่ยอมรับผิดแล้วยังเย้ยกฎหมายอีกด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้เปรียบเหมือนมีคนขโมยของๆทางราชการไป สมมุติว่าเป็นรถของกรมป่าไม้ก็แล้วกันปรากฏว่ามีคนรับซื้อรถคันนั้นไว้ทั้งที่ก็รู้อยู่ว่าเป็นรถของกรมป่าไม้ ต่อมามีคนไปแจ้งความตำรวจๆสืบสวนแล้วก็ส่งเรื่องให้อัยการๆพิจารณาแล้วเห็นว่าผิดฐานรับซื้อของโจร แต่เห็นว่าไม่เจตนาจึงสั่งไม่ฟ้อง แต่เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ผู้รับซื้อของโจรรายนี้ก็ยังใช้รถคันนั้นต่อไปได้ ถ้าปล่อยให้ทำกันอย่างนี้ได้ ต่อไปก็คงยุ่งกันใหญ่
นอกจากเรื่องนี้ไม่ยุติลงอย่างถูกต้องตามครรลองครองธรรมแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะบานปลายเสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีก สืบเนื่องจากการอธิบายแก้ต่างโดยเพื่อนสนิทของพล.อ.สุรยุทธ์เองที่บอกว่าถ้าต้องเอาที่ดินคืนจากพล.อ.สุรยุทธ์ก็ต้องเอาที่ดินคืนจากประชาชนอีกหลายหมื่นครอบครัวด้วย (8) ผู้ที่ช่วยอธิบายนี้คงคิดอย่างนั้นจริงๆ แต่คงลืมไปว่ากำลังอธิบายแทนอดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีซึ่งสังคมไทยมักได้รับการบอกเล่าว่าเป็นคนดี มีคุณธรรมที่ไม่พึงอ้างการกระทำผิดกฎหมายของคนธรรมดาสามัญทั้งหลายมาเป็นความชอบธรรมที่ตนจะทำผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน ซ้ำยังไม่ต้องรับโทษใดๆและหากตนต้องรับโทษก็ต้องลงโทษคนที่ทำผิดกฎหมายทั้งหลายให้เท่าเทียมกันด้วย
ความคิดแบบอภิสิทธิ์ชนเช่นนี้ มีผลลุกลามต่อเนื่องไปยังผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อยอีก ๒ กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ใหญ่บางคนในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สั่งการให้หาทางเอาที่ดินคืนจากชาวบ้านหลายหมื่นครอบครัวที่บุกรุกที่ป่าสงวน กับอีกกลุ่ม คือ สื่อมวลชนบางรายที่ประกาศรณรงค์ให้เอาที่ดินที่ถูกบุกรุกคืนมา การเคลื่อนไหวของคน ๒ กลุ่มนี้ถ้าเป็นภาวะปกติก็พอเข้าใจได้ แต่เมื่อมาเกิดขึ้นเป็นเรื่องสืบเนื่องโดยตรงกับกรณีเขายายเที่ยงก็ทำให้คนรู้สึกได้ว่าเป็นการแก้แค้นแทนบุคลที่คนเหล่านี้ศรัทธายกย่องอยู่ ทำนองว่าบังอาจมาเอาที่ดินของท่านคืนกันได้อย่างไร ต้องสั่งสอนเสียบ้าง หากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็คงโกลาหลกันพอสมควร ที่สำคัญก็จะไม่แก้ปัญหาอะไร แต่กลับจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ใช่จะขัดขวางการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าสงวน แต่เห็นว่าหากจะแก้จริงก็ต้องดูปัญหาในภาพรวมและแก้อย่างเป็นธรรมเพื่อรักษาป่าให้ได้จริงพร้อมทั้งคำนึงถึงความสงบสุขด้วย
กรณีที่ดินเขายายเที่ยงนี้เป็นตัวอย่างของความเป็น “สองมาตรฐาน” ของระบบยุติธรรมของประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าผู้ที่ทำผิดกฎหมายอาจยังไม่ถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรม แต่สังคมก็ได้พิพากษาลงโทษไปเรียบร้อยแล้ว หากมีการร้องเรียนให้พิจารณาความผิดและลงโทษผู้ที่รับผิดชอบคดีนี้ต่อไป แม้ว่าอาจจะไม่ได้ผลเนื่องจากคงหวังอะไรได้ไม่มากนักจากระบบปัจจุบัน แต่การเรียกร้องต่างๆที่จะมีขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าระบบปัจจุบันพิกลพิการอย่างไรและสังคมไทยควรทำอย่างไรกับระบบที่ไม่ยุติธรรมนี้กันต่อไป