บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

รัฐธรรมนูญปี 50 อยากให้ตายก็ไม่ได้แก้

ที่มา โลกวันนี้

คอลัมน์
เป็นประชารัฐ
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2706 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 31 ธันวาคม 2009
โดย อัคนี คคนัมพร (อั๋น โซลูน่า เขียนแทน)

ถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปนาน ครั้งนี้เป็นการเปิดประเด็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความต้องการจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตยาบันร่วมกันเมื่อครั้งที่มีการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล จนกระทั่งถึงวันนี้กินเวลาไปกว่า 1 ปี การเดินทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ไปไหน

อะไรเกิดขึ้น ทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงได้ยากนัก คำตอบตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็คือ รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เล่นเกมซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะไม่อยากแก้

ที่ไม่อยากแก้เพราะแก้แล้วเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง กับแก้แล้วกลัวคนกันเองด่า ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับมดลูก คมช. นี้คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชื่นชอบเท่าไรนัก เพราะเป็นการเขียนกติกาที่ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยนกันไปหมด ซึ่งไม่มีที่ไหนเขาทำกัน

ชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาเอื้อต่อพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ ข้อกำหนดเรื่องระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญก็มาจากข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเลือกแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ เพราะถ้าเลือกแบบเขตเล็กเบอร์เดียวก็หมดหนทางสู้ เนื่องจากกระแสหรือภาพที่สร้างให้ดูดีไม่ค่อยมีส่วนช่วยให้ได้คะแนนเสียงในพื้นที่

ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ เพราะรัฐบาลจะต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงเด็ดขาดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

การมีรัฐบาลผสมหลายพรรคเปิดโอกาสให้มีการต่อรอง ทั้งการต่อรองเก้าอี้ การต่อรองผลประโยชน์ ดังที่มีให้เห็นในรัฐบาลปัจจุบัน

การเปิดช่องให้มีการต่อรองนี้เองจะทำให้การเมืองอ่อนแอ ย่ำแย่ เหม็นโฉ่ในสายตาและความรู้สึกของประชาชน

เมื่อภาพของฝ่ายการเมืองเหม็นเน่า ประชาชนเกิดความรู้สึกด้านลบ ก็จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกที่ดีและศรัทธากับบุคคลอื่น องค์กรอื่น หรือหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง

จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะรู้สึกดีกับทหาร กองทัพ อำมาตย์ ศาล องค์กรอิสระ มากกว่าจะรู้สึกดีๆกับฝ่ายการเมือง ทั้งที่ตามสัจธรรมและธรรมชาติแล้วทุกองค์กรย่อมประกอบด้วยคนดีและคนเลวไม่ต่างกัน เพียงแต่อาจจะดีมากเลวน้อยแตกต่างกันไป

นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับมดลูก คมช. จะมุ่งทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอเพื่อไปส่งเสริมภาพลักษณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งโดดเด่นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเขียนขึ้นมาบนสมมุติฐานของความไม่ไว้วางใจในการใช้อำนาจของประชาชน และเขียนขึ้นมาภายใต้ความรู้สึกเกลียดกลัวนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองในระบอบทักษิณ

อาจจะมีคนเถียงว่านักการเมืองทุกคนก็อยู่ภายใต้การแข่งขันในกติกาเดียวกัน จะว่า คมช. เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อให้กับใครได้อย่างไร

เรื่องนี้ก็จริง ไม่ขอเถียง

แต่การแข่งขันนอกจากจะมีกฎ กติกา มารยาทแล้ว ยังมีกรรมการที่คอยทำหน้าที่ชี้ขาดอีกด้วย ซึ่งบุคคลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการนี่แหละที่เป็นปัญหา

เป็นธรรมดาว่าคนที่ได้เปรียบจากกติกา ได้เปรียบจากการตัดสิน ย่อมอยากดำรงสถานะนี้เอาไว้ให้นานที่สุด จึงไม่แปลกที่พรรคประชาธิปัตย์มีทีท่าอิดออดต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสมอมา แม้จะเป็นหนึ่งในข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

ถึงพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาขู่ฟ่อๆอย่างไรคนประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้หวั่นไหวในเรื่องนี้เลย ถีบหัวเรือออกจากท่าให้ลอยเคว้งอยู่กลางคลอง โดยโยนให้เป็นเรื่องของสภา แต่ก็ยังไม่วายดึงเรื่องไว้ โดยมีข้อแม้ว่าในพรรคร่วมรัฐบาลต้องมาคุยกันให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน

เล่นเอางงไปตามๆกัน เพราะไม่เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีจะเอาอย่างไรกันแน่ ในเมื่อบอกว่าเป็นเรื่องของสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แล้วทำไมพรรคร่วมรัฐบาลต้องมาคุยกันให้ได้ข้อสรุปก่อน

ท่าที่แสดงออกก็แน่ชัดว่าต้องการยื้อ

เขียนป้ายติดฝาบ้านตัวใหญ่ๆไว้ได้เลยว่า ภายใต้การบริหารงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker