บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

รัฐบาลพลัดถิ่น (Government in-Exile) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ที่มา ประชาไท

1. ความหมาย

รัฐบาลพลัดถิ่น (Government in-exile) หมายถึง กรณีที่ผู้นำประเทศคนเดียวหรือกลุ่มบุคคลมากกว่า 2 ขึ้นไปได้ตั้งรัฐบาล ณ ดินแดนของรัฐอื่น เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ในสายตาของกลุ่มนี้เห็นว่า ไม่มีความชอบธรรม โดยรัฐบาลพลัดถิ่นนี้ได้อ้างว่ายังเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรม แม้จะไม่มีอำนาจปกครองอย่างแท้จริงเหนือประเทศของตนก็ตาม โดยรัฐบาลพลัดถิ่นนี้ต้องได้รับการรับรองจากรัฐที่อนุญาตหรือยินยอมให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้ (Host state) รวมทั้งจากนานาประเทศด้วย แม้ว่ารัฐบาลพลัดถิ่นนั้นจะมิได้มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชาชนอย่างแท้จริงในประเทศของตนก็ตาม[1] อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายระหว่างประเทศบางท่านแยกรัฐบาลพลัดถิ่นออกเป็นสองประเภทคือ รัฐบาลพลัดถิ่นที่มีความชอบธรรม (legitimate government in exile) กับรัฐบาลพลัดถิ่นธรรมดาๆ (government in exile)[2] โดยวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลพลัดถิ่นคือ การต่อสู้กับรัฐบาลที่ช่วงชิงอำนาจเพื่อหวนกลับคืนสู่อำนาจ[3] จะเห็นได้ว่า แม้รัฐบาลพลัดถิ่นจะมิได้มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและพลเมืองของตนก็ตาม[4] แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคอย่างใดเลยในการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างประเทศแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น การมีอำนาจเหนือดินแดนอย่างมีประสิทธิผล (effective control) (ของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร) กลับมิได้นำมาซึ่งความชอบธรรมแต่ประการใด[5]

2. สาเหตุของการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

ในอดีตที่ผ่านมา การตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นนั้นเกิดขึ้นหลายสาเหตุด้วยกัน พอสรุปได้ดังนี้

1. การต่อต้านการรุกรานจากต่างชาติ หรือต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเอกราช (Independence) ปลดแอกจากการเป็นเมืองขึ้นหรือการยึดครองจากต่างชาติ การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแบบนี้เกิดขึ้นมากในสมัยสงครามโลกครั้งที่1[6] และ 2

2. กรณีที่รัฐหนึ่งได้ผนวกดินแดน annexation) หรือรุกราน (aggression) อีกประเทศหนึ่งจน รัฐบาลที่ถูกต่างชาติผนวกดินแดนนั้นต้องตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประเทศอื่น ตัวอย่างเช่น การที่ประเทศรัสเซียได้ผนวกดินแดนของกลุ่มประเทศบอลติก หรือกรณีที่ประเทศอิรักบุกคูเวต เมื่อคราวสงครามอ่าเปอร์เซีย

3. กรณีที่มีการทำรัฐประหาร (coup) ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น กรณีของประเทศไซปรัส เฮติ

3. ปัจจัยของการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสองปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

1) ปัจจัยภายใน (Internal factor)

ปัจจัยภายในที่สำคัญที่สุดคือ การได้รับการแรงสนับสนุนจากประชาชนหรือมีแรงต่อต้าน(resistance) จากประชาชนต่อรัฐบาลรักษาการ[7] หากมีแรงต้านจากประชาชนภายในประเทศมากซึ่งเท่ากับว่าคณะรัฐประหารหรือ government in situ ยังไม่มีอำนาจปกครองอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่มีeffective control ซึ่งอาจมีผลต่อแรงสนับสนุนจากนานาชาติได้ ยิ่งถ้าคณะรัฐประหารใช้กำลังความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้ว ก็อาจถูกนานาชาติประณามหรือมีแรงกดดันมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็อาจเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐบาลพลัดถิ่นมากขึ้นได้

2) ปัจจัยภายนอก (External factor)

ปัจจัยภายนอกคือ การได้รับการรับรองจากรัฐบาลหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นว่าเป็นรัฐบาลเดียวที่เป็นผู้แทนของรัฐ การสนับสนุนจากต่างชาติอาจอยู่ในรูปของ diplomatic recognition หรือ operational assistance ก็ได้ รวมถึงการได้รับแรงสนับสนุนจากคนชาติของตนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย[8] โดยเหตุผลหลักที่ประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นก็คือ เรื่องความชอบธรรม ซึ่งรัฐบาลพลัดถิ่นก็มักจะใช้ประเด็นเรื่องความชอบธรรมเป็นยุทธวิธีในการโจมตีรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร

4. การรับรองและผลการรับรองรัฐบาลพลัดถิ่น

การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการถูกรับรองจากรัฐบาลอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่ผู้นำของประเทศได้อาศัยเป็นฐานที่ตั้งปฏิบัติการรัฐบาลพลัดถิ่น หากปราศจากการรับรองแล้ว ผู้นำนั้นก็มีสถานะเพียงคนต่างด้าวเท่านั้น[9] หรือเป็นเพียง Authorities in-exile ดังนั้น การรับรองว่าเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นจึงเป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะชี้ขาดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของผู้นำประเทศ

สำหรับทฤษฎีการรับรองที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการทำรัฐประหารและรวมถึงการสนับสนุนการรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นคือ ทฤษฎี Tobar โดยทฤษฎี Tobar นี้จะปฏิเสธมิให้มีการรับรองรัฐบาลที่มิได้มาโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ และรัฐจะยังให้การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ต่อไป[10] โดยถือว่า รัฐบาลพลัดถิ่นเป็นรัฐบาลที่เป็นผู้แทนของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว

การรับรองรัฐบาลผลัดถิ่นนั้น หมายถึง ในสายตาของรัฐที่ให้การรับรองนั้น รัฐบาลพลัดถิ่นเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมและเป็นผู้แทนของรัฐในทางระหว่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนผลในทางกฎหมายของการรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นที่มีความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีด้วยกันมากมาย ดังนี้[11]

1) รัฐบาลพลัดถิ่นสามารถทำสนธิสัญญาได้

2) รัฐบาลพลัดถิ่นสามารถสามารถมีที่นั่งหรือเป็นผู้แทนของรัฐในองค์การระหว่างประเทศได้

3) รัฐบาลพลัดถิ่นสามารถสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้ (right of legation)

4) รัฐบาลผลัดถิ่นสามารถอุปโภคเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของรัฐได้

5) รัฐบาลผลัดถิ่นมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในต่างประเทศได้ (right to dispose state property aboard)

5. นิติสัมพันธ์ 3 ฝ่าย

การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ทางกฎหมายในระดับระหว่างประเทศค่อนข้างสลับซับซ้อน โดยมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฝ่ายด้วยกัน คือ รัฐบาลพลัดถิ่น รัฐที่อนุญาตให้มีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศของตนได้ (Host state) รัฐที่ให้การรับรอง (recognizing state)โดยแยกพิจารณา ดังนี้

1) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลัดถิ่นกับรัฐที่อนุญาตให้มีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศของตนได้ (Host state)

การได้รับการรับรองจาก Host state นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะขาดเสียมิได้ (condition sine qua non) ในอันที่จะจัดตั้งและปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลพลัดถิ่น[12] หากไม่มีการรับรองจาก Host state แล้ว สถานะของรัฐบาลพลัดถิ่นตามกฎหมายระหว่างประเทศก็มีไม่ได้ อันส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้นามรัฐบาลพลัดถิ่นไม่อาจเป็นไปได้ด้วย

2) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลัดถิ่นกับรัฐที่ให้การรับรอง (recognizing state)

เช่นเดียวกับการรับรองรัฐบาลที่มิได้มาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามรัฐธรรมนูญ การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละรัฐที่จะให้การรับรองหรือไม่ก็ได้ การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นนั้นมีผลเท่ากับเป็นการไม่รับรองรัฐบาลรักษาการไปด้วยในตัว

3) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายกับรัฐต่างประเทศ (Government in situ)

รัฐที่ให้การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมนั้น ก็อาจมีความสัมพันธ์ในทางระหว่างประเทศกับรัฐบาลรักษาการหรือที่นักวิชาการเรียกว่า Government in situ ซึ่งผู้เขียนขอแปลว่า “รัฐบาลที่อยู่ในช่วงการผ่องถ่ายอำนาจ” ได้[13] การที่ยังคงมีความสัมพันธ์นั้นมิได้หมายความว่า รัฐนั้นให้การรับรองรัฐบาลรักษาการแต่รัฐที่ให้การรับรองนั้นเห็นว่า ตนเองยังมีผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในประเทศนั้น หรือที่ยังคงความสัมพันธ์นั้นก็เป็นไปเพื่อรักษาสิทธิหน้าที่ต่อกันที่มีลักษณะเป็นงานประจำวัน (routine) เช่น การยังคงให้ตัวแทนทางทูตประจำอยู่[14] การออกวีซ่า การอนุญาตให้เครื่องบินโดยสารเข้าออกตามปกติ เป็นต้น

6. ตัวอย่างของการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอดีต

1) การรัฐประหารในไซปรัส[15]

วันที่15 กรกฎาคมค.ศ. 1974 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันมีนายMakarios III เป็นประธานาธิบดีถูกกองกำลังCypriot National Guard โดยมีนายNicos Sampson เป็นผู้นำรัฐประหารภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกรีกทำการรัฐประหารโดยที่ประธานาธิบดีได้ลี้ภัยทางการเมืองโดยการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปยังฐานทัพอากาศของอังกฤษที่เมืองAkrotiri เพื่อบินต่อไปยังประเทศมอลต้าและกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ

2) การรัฐประหารในเฮติ[16]

เมื่อวันที่30 กันยายนค.ศ. 1991 คณะรัฐประหารได้ทำการโค่นล้มรัฐบาลเฮติที่มาจากการเลือกตั้งโดยมีJean-Bertrand Aristide เป็นประธานาธิบดี และประธานาธิบดี Aristede ได้ลี้ภัยทางการเมืองการรัฐประหารในประเทศไซปรัสและประเทศเฮติมีข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงอย่างบังเอิญก็คือประธานาธิบดีทั้งคู่เป็นประธานาธิบดีที่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั้งคู่เป็นนักบวช(Jean-Bertrand Aristide เคยเป็นนักบวชนิกายโรมันแคธอลิก) ทั้งคู่เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่มาจากระบอบประชาธิปไตยทั้งคู่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งคู่เคยถูกลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จและทั้งคู่ก็ขอลี้ภัยการเมืองและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

รัฐบาลพลัดถิ่นและการรับรอง

การรัฐประหารของประเทศไซปรัสและเฮติมีอะไรที่คล้ายกันเช่นหลังจากที่ประธานาธิบดีถูกโค่นล้มอำนาจแล้วทั้งคู่ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ต่างประเทศสำหรับปฏิกิริยาของประชาคมระหว่างประเทศนั้นก็ได้แสดงการไม่รับรองการทำรัฐประหารที่น่าแปลกใจก็คือมีเพียงวาติกัน(Vatican) เท่านั้นที่รับรองคณะรัฐประหารที่โค่นล้มประธานาธิบดี Aristid

ปฏิกิริยาจากประชาคมระหว่างประเทศ: บทบาทขององค์การระหว่างประเทศ

ประธานาธิบดี Makarios III ได้ใช้เวทีขององค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติส่วนประธานาธิบดี Aristid ก็ใช้องค์การสหประชาชาติและองค์การนานารัฐอเมริกันOrganization of American States(OAS)[17] ชี้แจงให้นานาประเทศทราบจนในท้ายที่สุดประธานาธิบดีทั้งสองก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเหมือนเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ออกข้อมติที่A/RES/46/7 ประณามการทำรัฐประหาร และเร่งรัดให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลที่ชอบธรรมของประธานาธิบดีAristid รวมทั้ง ระบอบประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน[18] ยิ่งกว่านั้น คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ที่อาศัยอำนาจตามหมวดเจ็ดของกฎบัตรสหประชาชาติซึ่งว่าด้วย “Action with Respect to Threats to the Peace, Breaches of the Peace, and Acts of Aggression” ซึ่งคณะมนตรีได้ออกข้อมติที่ 841 (1993) เพื่อใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ (Economic sanctions)[19] และข้อมติที่ 940 ปี ค.ศ. 1994[20] ให้อำนาจในการก่อตั้งกองกำลังผสมนานาชาติ (Multinational forces) เพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศเฮติ จะเห็นได้ว่า สหประชาชาติเริ่มให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากที่ในอดีต การทำรัฐประหารถือว่าเป็นกิจการภายในของรัฐ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคง[21]

นอกจากนี้ OAU (Organization of African Unity)ยังได้ออกปฏิญญาว่าด้วยกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า “Declaration on the Framework for An OAU Response to Unconstitutional Changes of Government” เมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยสาระสำคัญของปฏิญญานี้คือ ประณามการทำรัฐประหารในประเทศ Sierra Leone รัฐประหารเป็นเรื่องน่าเศร้าและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทวีปแอฟริกา และรัฐสมาชิกจะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ (unconstitutional change of government) เช่น รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น[22]

จะเห็นได้ว่า เวทีระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญมากในอันที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นประสบความสำเร็จและต่อต้านรัฐประหาร โดยก่อนหน้าที่ OAU จะมีแถลงการณ์ในปี ค.ศ. 2000 ประเทศอเมริกาใต้ซึ่งประกอบด้วย กัวเตมาลา คอสตาริกา นิคารากัว ฮอนดูรัส และเอล ซัลวาดอร์ ก็ได้ทำสนธิสัญญา the Central American Treaty of Peace and Amity 1907 โดยใน Supplemental Treaty ได้กำหนดพันธกรณีแก่รัฐภาคีว่าจะต้องไม่ให้การรับรองรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร[23]

ทางปฏิบัติของประเทศไทย

นับแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้น ประเทศไทยผ่านการทำรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐประหารที่ทำสำเร็จ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกโค่นล้มก็ไม่เคยจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเลย

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนี้ปรากฎขึ้นเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรและได้ทำสนธิสัญญายอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ชวนนายทวี บุณยเกตุ ว่าควรจะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นอกประเทศทำนองเดียวกับที่นายพล ชาลส์ เดอโกลล์ ได้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประเทศอังกฤษ โดยรัฐบาลพลัดถิ่นจะประกอบด้วย ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ม.ล. กรี เดชาวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงคราม อันจะทำให้สามารถประกาศพระบรมราชโองการได้ แต่แผนการดังกล่าวก็ล้มเหลวเนื่องจากนายทวี บุณยเกตุมิได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร[24]

จะเห็นได้ว่า ความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของประเทศไทยในอดีตนั้นก็เคยปรากฏ เพียงแต่ความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารแต่เพื่อต้องการกอบกู้เอกราชของประเทศไทยให้รอดพ้นจากการรุกรานของประเทศญี่ปุ่นและเป็นผู้แทนเพื่อทำหน้าที่เจรจารักษาติดต่อกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรโดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย

6. ผลกระทบต่อความผูกพันของพันธกรณีระหว่างประเทศและการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ

รัฐประหารมิได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อความผูกพันของพันธกรณีระหว่างประเทศของรัฐบาลเดิมแต่ประการใด เนื่องจากความตกลงที่ได้ทำลงโดยรัฐบาลชุดก่อน ๆ นั้นผูกพัน “รัฐ” หาใช่ผูกพัน “รัฐบาล” ไม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงหามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของความตกลงที่ได้ทำก่อนหน้านี้ไม่ ในประเด็นนี้จะสังเกตว่า รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารได้ออกประกาศฉบับที่ 9 ว่าคณะรัฐประหารจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศ วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้น่าจะมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ประการแรก เพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า คณะรัฐบาลสามารถที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้ อันเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งของการรับรองรัฐบาล ประการที่สอง เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันแก่ประชาคมระหว่างประเทศว่า การรัฐประหารมิได้มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำไว้

อย่างไรก็ตามในอดีต พรรคบอลเชวิคที่ได้ทำการปฎิวัติเมื่อ ค.ศ. 1917 โค่นล้มระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์โรมานอฟสำเร็จ รัฐบาลบอลเชวิคได้อ้างว่าตนเองไม่ขอผูกพันบรรดาความตกลงทั้งหลายที่ได้ทำไปในระหว่างสมัยของพระเจ้าซาร์นิโคลัส โดยอ้างหลัก clasular rebusic stantibus

7. ผลกระทบต่อความรับผิดชอบของรัฐในทางระหว่างประเทศ

รัฐประหารได้ก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า ในกรณีที่คนต่างด้าวได้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศที่รัฐประหารได้เกิดขึ้นนั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ระหว่างรัฐบาลเดิมหรือฝ่ายกบฏที่สามารถล้มล้างรัฐบาลเดิมและจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ

ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ (state responsibility) นั้นได้ แยกการกระทำของฝ่ายกบฏที่ประสบความสำเร็จ (successful coup) กับการกระทำของฝ่ายกบฏที่ไม่ประสบความสำเร็จ (unsuccessful coup) ออกจากกัน กล่าวคือ หากฝ่ายกบฏหรือพวกปฏิวัติไม่ล้มเหลวในการช่วงชิงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลเดิม อันเป็นผลฝ่ายต่อต้านไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ หากระหว่างที่มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นแล้ว รัฐบาลเดิมไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่ก่อขึ้นโดยฝ่ายกบฏ ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายกบฏสามารถล้มล้างรัฐบาลได้สำเร็จและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ซึ่งรัฐบาลใหม่นี้อาจถูกรับรองว่าเป็น de facto government ก็ได้ บรรดาความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนต่างด้าวย่อมตกเป็นพับแก่รัฐบาลใหม่นี้

8. ท่าทีของประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อรัฐประหาร

ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่า บทบาทขององค์การระหว่างประเทศอย่าง OSA หรือ OAU สามารถกดดันรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารให้คืนอำนาจแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้แล้ว ในที่ประชุมระหว่างประเทศอย่าง Moscow Meeting Human Dimension Right 1991 ยังได้แสดงท่าทีประณามรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย[25] และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐด้วย[26] ดังนั้น ปัจจุบัน ประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ไม่ยอมรับรัฐประหาร ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม[27]

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาเซียน (ASEAN) นั้น บทบาทตรงนี้คงคาดหวังจากอาเซียนได้ยากเนื่องจากอาเซียนมีนโยบายที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรัฐประหารโดยประเทศสมาชิกเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้นเป็นกิจการภายในของรัฐ[28] รัฐบาลที่มีท่าทีว่า รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนเป็นเรื่องกิจการภายในของประเทศไทยได้แก่ ประเทศลาว โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศลาว คือนาย Yong Chantalangsyกล่าวว่า "These are interior affairs of Thailand. No comment, we are following the situation very closely." No border points have been closed between the two countries. Everything is normal and flights are operating as usual.”[29] แม้กระทั่งประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ก็ยังมีท่าทีต่อรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนว่าเป็นปัญหาภายในของประเทศไทยและรัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง[30]

บทส่งท้าย

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐได้ถูกโค่นล้มโดยการทำรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้นหลายสิบครั้ง จนประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการทำรัฐประหารอยู่ในระดับกลาง (medium) เทียบเท่ากับประเทศกัมพูชา[31]

น่าคิดว่า ประเทศในทวีปแอฟริกา (ซึ่งแม้ความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะด้อยกว่าประเทศไทย) แต่ประเทศในทวีปแอฟริกาก็ยังมีความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยและรังเกียจต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญถึงกับออกปฏิญญาคัดค้านการทำรัฐประหาร

หวังว่า ประชาชนคนไทยประสงค์จะขอเลือกใช้วิถีทาง “ballot” ไม่ใช่ “bullet” สำหรับเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง



อ้างอิง

[1]See Encyclopedia of Public International Law.p210:Gerhard von Glahn, Law Among Nations: An Introduction to Public International Law, (New York: Macmillan Publishing Co.,Inc,1981),p.112 Yossi Shain (ed.), Governments in-Exile in Contemporary World Politics, (USA.:Routledge,1991),p.2; Oppenheim ’s International Law (Sir Robert Jennings and Sir Arthur Watts (ed.): Vol. I, (Great Britain: Oxford University Press,1996) p.146

[2] The Reality of International Law: Essays in Honour of Ian Brownlie, (Guy S. Goodwin-Gill, Stefan Talmon (ed.)(Great Britain: Clarendon Press, 1999),p. 500

[3]Yossi Shain (ed.), p.220

[4]See Marjorie M. Whiteman, Digest of International Law, (1963), p. 921

[5]Yossi Shain, supra note, ,p.224

[6]ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 1 โปรดอ่าน F. E. OppenheimerGovernments and Authorities in Exile,The American Journal of International Law, Vol. 36, No. 4 (Oct., 1942), pp. 568-595

[7] Id., p.232

[8]Id.,p220

[9]ทฤษฎี Tobar เสนอโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศเอกวาดอร์ นามว่า Carlos Tobar

Encyclopedia of Public International Law.p211

[10]See Stefan Talmon, Recognition of Governments in International Law: With Particular Reference to Governments in Exile, (Great Britain: Clarendon Press,1998),p10

[11]โปรดดูรายละเอียดใน Stefan Talmon, p. 117 เป็นต้นไป

[12]Yossi Shain,p.243

[13]Yossi Shain,p.231

[14]อย่างไรก็ตามอาจมีการลดความสัมพันธ์ทางทูตลงได้ เช่น จากเอกอัครราชทูต (ambassador) ผู้มีอำนาจเต็มเหลือพียงอุปทูต (charge d’ affaires)

[15]See Edward Collins Jr. & Timothy M. Cole, Regime Legitimating in the Instances of Coup-Caused Government-in-Exile: The Cases of Presidents Makarios and Aristide, 5 Journal of International Law and Practice 199 (1996)

[16] Id.

[17]ปัจจุบันคือ OAU (Organization of African Unity)

[18] See A/RES/46/7 เนื้อหาส่วนหนึ่งของข้อมติฉบับนี้ กล่าวว่า

1. Strongly condemns the attempted illegal replacement of the constitutional President of Haiti, the use of violence and military coercionand the violation of human rights in that country;

2. Affirms as unacceptable any entity resulting from that illegal situation and demands the immediate restoration of the legitimate Government of President Jean-Bertrand Aristide, together with the full application of the National Constitution and hence the full observance of human rights in Haiti

[19] See S.C. Res. 841 (1993)

[20] See S.C. Res. 940 (1994)

[21]See Douglas Lee Donoho, Evolution or Expediency: The United Nations Response to the Disruption of Democracy, 29 Cornell International Law Journal 329 (1996)

[22]โปรดดูรายละเอียดใน AHG/Decl.5 (XXXVI) “Declaration on the Framework for An OAU Response to Unconstitutional Changes of Government” และโปรดดู Kofi Oteng Kufuor, The OAU and the Recognition of Governments in Africa: Analyzing Its Practice and Proposals for the Future, 17 American University International Law Review, 369 (2002)

[23]มาตรา 1 บัญญัติว่า “The governments of the high contracting parties shall not recognize any other government which may come into power in any of the five Republics as a consequence of a coup d’ etat…”

[24]โปรดดูรายละเอียดใน ดิเรก ชัยนาม, อ้างแล้ว,หน้า 286-287

[25]See Article II para. 17.1

[26]Article II para. 17.2

[27]See Thomas M. Franck, The Emerging Right to Democratic Governance, American Journal of International Law 46 (1992); Sean D. Murphy, Democratic Legitimacy and the Recognition of States and Governments, International and Comparative Law Quarter, vol. 48 (1999),p. 580

[28]ในประเด็นนี้ ไม่แน่ใจว่า อาเซียนเคยมีการทำประกาศหรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งมีข้อหนึ่งเกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางประชาธิปไตยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาโดย unconstitutional means อะไรทำนองนี้ ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีสมัยคุณบรรหาร ศิลปอาชา ถ้าข้อมูลนี้คลาดเคลื่อนต้องขออภัยด้วย

[30] See ChannelNewAsia.com; and see Ministry of Foreign Affairs of The PRC

[31]ข้อมูลจากMaximiliano Herrera’s Human Right Site โดยองค์กรนี้ได้แบ่งระดับความเสี่ยงของการทำรัฐประหารออกเป็น 5 ระดับคือ none, very low, law, medium,และ high

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker